กยท. ร่วมประชุม PIT IMT-GT Rubber Cities ครั้งที่ 1 หาแนวทางขับเคลื่อนเมืองยางพารา 3 ประเทศ หนุนเป็นเขตเศรษฐกิจด้านยางพารา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 1, 2021 10:57 —ThaiPR.net

กยท. ร่วมประชุม PIT IMT-GT Rubber Cities ครั้งที่ 1 หาแนวทางขับเคลื่อนเมืองยางพารา 3 ประเทศ หนุนเป็นเขตเศรษฐกิจด้านยางพารา

เมื่อเร็วๆ นี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำโดย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมคณะทำงานขับเคลื่อน "โครงการเมืองยางพารา และความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง ครั้งที่ 1" (The 1st Project Implementation Team (PIT) IMT-GT Rubber Cities & Industry Cooperation Meeting) ผ่านระบบทางไกล (Video Conference) การประชุมครั้งนี้ประกอบไปด้วยตัวแทนสมาชิกจาก 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศไทย ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักการเกษตรต่างประเทศ สมาคมยางพาราไทย และสถาบันวิจัยนวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลังสงขลานครินทร์ ผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ กระทรวงการค้า กระทรวงเกษตร และกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้เข้าประชุมจากประเทศมาเลเซีย ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรมการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมนานาชาติ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

การประชุมครั้งนี้ เป็นการหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านยางพาราระหว่าง3 ประเทศ โดย กยท. เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบคณะการค้าและการลงทุนฝ่ายไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเมืองยางพารา หรือ Rubber city ของทั้ง 3 ประเทศ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบาย งานวิจัย นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ยางพาราใหม่ๆ รวมไปถึงการสนับสนุนการค้าสินค้ายางพาราบริเวณชายแดนของทั้ง 3 ประเทศ ช่วยส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานและความต้องการใช้ยางพาราให้เพิ่มสูงขึ้น มุ่งหวังพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านยางพาราของ 3 ประเทศ เพื่อให้การค้าของ 3 ประเทศ ราบรื่นมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงความเห็นให้ทางประเทศมาเลเซีย โดย Mr. Hasri A Hasan , Chief Operation officer, Northern Corridor Implementation Authority (NCIA) เป็นประธานโครงการเมืองยางพารา และความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง ในระยะวาระ 5 ปี และทบทวนการดำเนินการของคณะทำงานในปี 2566 รวมถึงการสลับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในครั้งต่อๆ ไป และมีการหารือในประเด็นวัตถุประสงค์ของคณะทำงาน เช่น บทบาทหน้าที่ ขอบเขตการดำเนินงาน ตลอดจนกรอบระยะเวลาของคณะทำงานชุดนี้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ