บมจ.ดีโอดี ไบโอเทค (DOD) เผยงบปี 63 มีกำไรจากการดำเนินงานจากงบการเงินรวม 321.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 300.40 (YoY) ขณะที่รายได้จากการขายอยู่ที่ 1,611.20 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 103.97 (YoY) รับอานิสงส์ ดีมานด์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเติบโต โดดเด่นยุควิกฤติโควิด-19 สอดรับเมกะเทรนด์เพื่อสุขภาพ ด้าน CEO "ธนิน ศรีเศรษฐี" การันตีความแกร่งผลงานปี64 โตต่อเนื่อง จ่อรับรู้รายได้จากออเดอร์กลุ่มผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก พร้อมส่งซิกข่าวดีเรื่องกัญชง คาดจะได้รับใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์กลางมี.ค.นี้ เตรียมยื่นขอใบอนุญาตจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และตั้งโรงงานสกัดสาร CBD ล่าสุดมีบมจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แห่เข้าเจรจาขอพัฒนาและคิดค้นสูตร พร้อมจ่อทยอยเซ็นMOUความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันในเร็วๆนี้
นายธนิน ศรีเศรษฐี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD เปิดเผยถึงผลประกอบการปี 2563 กลุ่มบริษัทฯมีรายได้จากการขาย 1,611.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 821.28ล้านบาท หรือ เติบโตร้อยละ 103.97 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 789.92 ล้านบาท เป็นผลมาจากธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตเครื่องสำอาง และธุรกิจเครือข่ายที่เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในหลายรูปแบบ อาทิ รูปแบบผง , แคปซูล , ตอกเม็ด , เจลและเยลลี่ และซอฟเจลในรูปแบบที่เคี้ยวทั้งเมล็ด เป็นต้น ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคได้ทันที
พร้อมกันนี้ด้วยกลยุทธ์เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลในปี 2563 กลุ่มบริษัทฯมีกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) 321.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 240.96 ล้านบาท หรือ เติบโตร้อยละ 300.40 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 80.21 ล้านบาท แต่กลุ่มบริษัทฯมีการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ จำนวน 128.30 ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่มิใช่เงินสด อันเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อรองรับกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากสภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทฯยังคงมีผลกำไรส่วนของบริษัทใหญ่จำนวน 141.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 54.53 ล้านบาท หรือ เติบโตร้อยละ 62.89
จากความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา เป็นการตอกย้ำถึงการเป็นผู้นำด้านการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary Supplement Product) ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการนำนวัตกรรมงานด้านวิจัยมาผสมผสานกับงานด้านเทคโนโลยี ที่ทันสมัยเพื่อยกระดับกระบวนการผลิตในทุกๆมิติ โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารสกัดจากสมุนไพรไทยที่ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมของกลุ่มบริโภคคนรุ่นใหม่หันมาใช้เป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธ์ศาสตร์ของบริษัทฯที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพที่ใช้สารสกัดจากสมุนไพรไทย โดยเล็งเห็นว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีจำนวนมากขึ้นในทุก ๆ ปี เพื่อสอดรับกับการยกระดับเมกะเทรนด์เพื่อสุขภาพ
ส่วนทิศทางธุรกิจในปี 2564 บริษัทฯเชื่อมั่นว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งการเติบโตของ DOD เนื่องจากจะมียอดคำสั่งซื้อในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีความหลากหลายจากกลุ่มลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบริษัทฯยังมีออเดอร์ ในส่วนของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใหม่ กลุ่มโพรไบโอติก รูปแบบเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิต (Active) เข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งเบื้องต้นจะเริ่มทยอยส่งมอบสินค้า และรับรู้รายได้ของกำลังการผลิตเฟสแรก ในช่วงไตรมาส 1 เป็นต้นไป โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มโพรไบโอติก ในเฟสแรกจะเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทผงในซองขนาดเล็ก 3 กรัม พร้อมรับประทานมีกำลังการผลิตอย่างน้อย 1 ล้านซองต่อเดือน คาดเป็นส่วนผลักดันรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 100 ล้านบาทต่อปี และหลังจากนั้นก็จะพิจารณาขยายการผลิตเพิ่มมากขึ้น และมีแนวทางเพิ่มผลิตภัณฑ์ประเภทแคปซูลในเฟสถัดไป
พร้อมทั้งยังได้กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ประกาศหลักเกณฑ์และออกใบอนุญาต ให้เอกชนสามารถนำน้ำมันจากเมล็ดกัญชงมาใช้ในอาหารได้ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ออกกฎหมายให้เอกชนนำน้ำมันจากเมล็ดกัญชงมาใช้ในเครื่องสำอางแล้ว ซึ่งจะทำให้เอกชนสามารถนำน้ำมันจากเมล็ดกัญชงไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้นั้น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DOD กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทฯได้มีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ในช่วงที่ผ่านมา เบื้องต้นคาดว่าช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ บริษัทฯจะได้รับใบอนุญาตในการนำเข้าเมล็ดอย่างแน่นอนนอกจากนี้ บริษัทฯอยู่ระหว่างการเตรียมยื่นคำขอรับใบอนุญาตจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับใบอนุญาตผลิต(ปลูก) รวมถึงเตรียมยื่นขอใบอนุญาตตั้งโรงงานสกัดสาร CBD ในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชง กับอย. เป็นลำดับต่อไป
ทั้งนี้จากจุดแข็งและข้อได้เปรียบของบริษัทฯที่มีความพร้อมในเรื่องของโรงสกัด และห้องปฏิบัติการ (LAB) ซึ่งผ่านการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 จากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงยังได้การรับรองมาตรฐาน ISO22000:2018 (ระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร) และ ISO14001:2015 (ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม) และมีทีมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D)ของบริษัทเอง ที่คอยค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาสารสกัดพืชสมุนไพร รวมถึงการพัฒนากระบวนการสกัด ออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำให้ล่าสุดมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ บริษัทเอกชนอื่นๆ กว่า 20 ราย เข้ามาหารือร่วมกันเพื่อพัฒนาและคิดค้นสูตร ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าในเร็วๆนี้จะเซ็นสัญญาบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (MOU) กับกลุ่มลูกค้าดังกล่าว ในเร็วๆนี้
" หากบริษัทฯได้รับใบอนุญาตครบตามที่ยื่นขอ และสามารถผลิตผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชงเชิงพาณิชย์ตามความต้องการของลูกค้าได้ตามที่วางแผนไว้ จะยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความพร้อมของศักยภาพความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำในการผลิตผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชงได้แบบครบวงจร ที่สำคัญจะส่งผลให้รายได้บริษัทฯเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต " นายธนิน กล่าวทิ้งท้าย