วธ. จัดประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้

ข่าวทั่วไป Monday March 1, 2021 13:12 —ThaiPR.net

วธ. จัดประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้

ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กระทรวงวัฒนธรรม โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย แถลงข่าว โครงการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกาย "ผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้" (Contemporary Southern Batik) ภายใต้แนวคิด Batik City โดยได้รับเกียรติจาก นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในงานดังกล่าว พร้อมด้วย นางสาววิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และเหล่าแฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดัง เชิญชวนนักออกแบบเครื่องแต่งกายส่งผลงานเข้าร่วมประกวดชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า ๑๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ๗ สถาบันการศึกษาชื่อดัง เพื่อพัฒนางานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมกัน

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า "จากความสำเร็จของโครงการผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ที่จัดมาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนใต้ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค ๔ สน.) สานต่อกิจกรรมมาเป็นการประกวดออกแบบผ้าไทยชายแดนใต้ จากการเล็งเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และ ๔ อำเภอของสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) ที่มีองค์ความรู้และฝีมือศิลปวัฒนธรรมชุมชนในการสร้างสรรค์ ผ้าบาติก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ด้วยการนำดีไซเนอร์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนในการพัฒนาลวดลายผ้า และการนำนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้า โดยสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบและจัด workshop ให้คนในพื้นที่ได้ลงมือผลิตชิ้นงานเองมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน มีชิ้นงานที่สืบเนื่องจากโครงการดังกล่าวมากกว่า ๒๐๐ ผลงาน"

"ในปีนี้ จึงได้เปิดโอกาสให้นักออกแบบเครื่องแต่งกายรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพในการออกแบบ โดยนำผ้าไทยชายแดนใต้มาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงาน ผู้ที่ผ่านเข้ารอบ ๑๕ คน จะได้รับงบประมาณเพื่อนำไปผลิตเป็นชุดต้นแบบเพื่อเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศต่อไป โดยมีแฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดังระดับประเทศที่ลงไปพัฒนาลายผ้าร่วมกับชุมชน ได้ให้เกียรติเป็นที่ปรึกษาและคณะกรรมการตัดสิน อาทิ คุณศิริชัย ทหรานนท์ คุณธีระ ฉันทสวัสดิ์ คุณเอก ทองประเสริฐ และ คุณหิรัญกษฎิ์ ภัทรบริบูลย์กุล , คุณบัญชา ชูดวง ก่อนที่ผลงานทั้งหมดได้รับการนำไปจัดแสดงนิทรรศการผลงานเพื่อแผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป ทั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาทั้ง ๗ แห่ง ได้แก่  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ที่เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือด้านศิลปะร่วมสมัยสาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย พร้อมส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสในการนำผ้าไทยมาใช้ในการออกแบบเครื่องแต่งกายภายใต้กิจกรรมนี้"

ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวถึง ภารกิจของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรในสาขาการออกแบบเครื่องแต่งกายที่ได้ดำเนินการร่วมกับชุมชนว่า "ที่ผ่านมา สศร. มุ่งเน้นการพัฒนาลวดลายผ้า การพัฒนารูปแบบการออกแบบให้ผ้าไทยสามารถเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและเข้าถึงได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงการปรับรูปแบบการใช้ผ้าให้มีการใช้งานที่มากกว่าการเป็นเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งถือเป็นการนำศิลปะหลากหลายสาขามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มีความร่วมสมัย สวยงาม โดยยังมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ส่งผลให้ชุมชนผู้ผลิตผ้ามีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 256๔ นอกจากการประกวดออกแบบครื่องแต่งกายร่วมสมัยชายแดนใต้ ที่นำผ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาเป็นโจทย์ในการแข่งขันแล้ว  สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ยังมีโครงการพัฒนาเครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยของชุมชนในพื้นที่ 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง และโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย ที่ปีนี้จะนำดีไซน์เนอร์จับคู่กับชุมชนผู้ผลิตผ้าใน 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค ให้มีการสร้างสรรค์งานร่วมกันระหว่างดีไซน์เนอร์และชุมชน โดยมุ่งหวังให้ชุมชนได้เรียนรู้และสร้างทักษะในการสร้างสรรค์งาน เพื่อเพิ่มรายได้ต่อไปในอนาคต"

เอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Ek Thongprasert กล่าวว่า "ผ้าบาติกของทางภาคใต้นั้น แม้อาจจะไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายเมื่อเทียบกับ ผ้าไหมจากภาคอีสาน แต่อย่างไรก็ดี ผ้าบาติกนั้นมีศักยภาพที่น่าจับตา สู่พัฒนาเข้าสู่ตลาดที่หลากหลาย จากราคาและคุณลักษณะที่ร่วมสมัยและการดูแลที่ง่ายสอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน"

ทางด้าน ธีระ ฉันทสวัสดิ์ ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ T-ra กล่าวถึงเสน่ห์ของผ้าบาติกว่า "เสน่ห์ของผ้าบาติกในประเทศไทย มีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นๆ จากประสบการณ์ของตัวเองที่ลงพื้นที่มาหลายปีเพื่อพัฒนารูปแบบผ้าบาติกให้เป็นไปตามทิศทางของกลุ่มผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รูปแบบเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่กว้างขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การนำวัฒนธรรมท้องถิ่นนำมาประยุกต์ขึ้นใหม่ ต้องอาศัยความอดทน และทำความเข้าใจจุดเด่นของแต่ละกลุ่มว่าถนัดในรูปแบบใด เมื่อเข้าใจวิธีการทำงานของพวกเขาแล้ว ค่อยประยุกต์มุมมองที่ร่วมสมัยใส่ลงไป โดยที่ไม่ได้ไปลดทอนความเป็นอัตลักษณ์ของพวกเค้า การทำงานร่วมกันจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด"

ทั้งนี้ คณะกรรมการตัดสินผลงาน จะทำการพิจารณาคัดเลือกและตัดสินผลงานการออกแบบในรอบแรก จำนวน ๑๕ คน จากหลักเกณฑ์ ดังนี้ ๑.แนวคิดในการออกแบบ ๒.ความคิดสร้างสรรค์และเอกลักษณ์ในการนำลายผ้ามาออกแบบ ๓.เทคนิคที่ใช้ในการออกแบบ ๔.การเลือกใช้วัสดุและโทนสี ผู้ที่สนใจสามารถส่งแฟ้มผลงานได้ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ - ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๔ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร ๐๒ ๒๐๙ ๓๗๕๓ หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ www.ocac.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ