กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กำหนดสาขาอาชีพเพื่อให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการทดสอบแก่ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ซึ่งดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่ผู้เข้ารับการทดสอบที่ กพร.ส่งไปทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 20 สาขา
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ กพร.พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้มีทักษะที่สูงขึ้นและหลากหลายมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนกระทรวงแรงงานสู่กระทรวง ด้านเศรษฐกิจสร้างแรงงานคุณภาพเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมีมาตรฐานระดับสากล โดย กพร.กำหนดมาตรการจูงใจ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายที่ร่วมให้บริการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ โดยให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานแก่ผู้ดำเนินการทดสอบใน 20 สาขา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กล่าวต่อไปว่า 20 สาขาดังกล่าวประกอบด้วย สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง คือ ช่างฉาบยิปซัม ช่างติดตั้งยิปซัม ช่างมุงหลังคากระเบื้องคอนกรีต ช่างติดตั้งแผ่นเหล็กเคลือบขึ้นรูป สาขาอาชีพ ช่างอุตสาหการ คือ ช่างเชื่อมแม็ก ช่างเชื่อมทิก ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ สาขาอาชีพช่างเครื่องกล คือ ผู้ควบคุมปั้นจั่นชนิดหอสูง พนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยกไฟฟ้า พนักงานขับรถบรรทุก สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ คือ ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างควบคุมด้วยระบบโปรแกรมเมเบิ้ลลอจิคอนโทรลเลอร์ สาขาอาชีพช่าอุตสาหกรรมศิลป์ คือ ช่างเครื่องประดับ (ประดับอัญมณี) ช่างเครื่องประดับ (รูปพรรณ) เจียระไนพลอย ช่างหล่อเครื่องประดับ ช่างตกแต่งเครื่องประดับ ช่างฝังอัญมณี บนเครื่องประดับ ช่างประกอบติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ สาขาอาชีพภาคบริการ คือ ผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ซึ่งการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพเหล่านี้จำเป็นต้องดำเนินการโดยบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะและความเชี่ยวชาญต้องใช้เครื่องมือเครื่องจักรเฉพาะด้าน และเป็นสาขาอาชีพที่สำคัญและจำเป็นในตลาดแรงงานปัจจุบัน เพื่อให้ภารกิจด้านมาตรฐานฝีมือแรงงานสามารถรองรับความต้องการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ กพร.จึงใช้แนวทางประชารัฐโดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพดังกล่าว
"กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน การให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนแก่ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 24 เป็นไปตามมาตรา 28 (3) ที่บัญญัติให้ใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือหรืออุดหนุนกิจการใดๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เพื่อเป็นการส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานโดยจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ปีละ 10,000 บาท ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สพร. และ สนพ. ทุกจังหวัด หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2643 6039 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4" อธิบดี กพร.กล่าวทิ้งท้าย