PwC ประเทศไทย ชี้แนวโน้มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยในปี 64 ยังขยายตัวแม้เจอผลกระทบโควิด-19

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 10, 2021 14:31 —ThaiPR.net

PwC ประเทศไทย ชี้แนวโน้มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยในปี 64 ยังขยายตัวแม้เจอผลกระทบโควิด-19

PwC ประเทศไทย เผยแนวโน้มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยในปี 64 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ระบุหากภาครัฐมีการกำหนดรูปแบบการลงทุนและผลตอบแทนที่เหมาะสม จะช่วยดึงดูดให้เอกชนร่วมลงทุนเพิ่มมากขึ้น พร้อมชี้ว่า การพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง

นาย แกรี่ เมอร์ฟี่ย์ หุ้นส่วน สายงานโครงสร้างพื้นฐานและโครงการลงทุน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Thailand's Infrastructure Market Update and Outlook 2021 ของ PwC ประเทศไทย ว่า ภาพรวมตลาดโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยในปี 2564 มีแนวโน้มเป็นบวก โดยยังคงมีโอกาสในการลงทุนเพื่อพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้การพัฒนาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการมีความล่าช้า หรือชะลอตัวลง และบางโครงการต้องมีการทบทวนถึงความจำเป็นของโครงการใหม่ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) กลายเป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งในปัจจุบันการพัฒนาโครงการดังกล่าว มีความคืบหน้าค่อนข้างมาก โดยภาครัฐได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) แล้ว รวมทั้งสิ้น 3 โครงการจาก 6 โครงการหลัก นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้กับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และกระจายผลประโยชน์จากการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ

นอกเหนือจากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) แล้ว โครงการลงทุนในภาคคมนาคมขนส่ง ก็มีความคืบหน้าด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการระบบขนส่งทางรางในเขตพื้นที่เมือง และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง  

กำหนดรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อดึงเอกชนร่วมลงทุนมากขึ้น

ทั้งนี้ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) กำลังเป็นรูปแบบการดำเนินโครงการ และวิธีจัดซื้อจัดจ้างที่สำคัญในการพัฒนาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่กำลังเป็นที่ยอมรับในวงกว้างในประเทศไทย

"รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนมีวิวัฒนาการและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้ว่า ในการประมูลโครงการสำคัญ ๆ ที่ผ่านมา มีนักลงทุนรายใหม่ ๆ เข้าร่วมประมูลโดยบางส่วนเป็นนักลงทุนที่ต้องการขยายธุรกิจจากอุตสาหกรรมหลักของบริษัท และเริ่มสนใจเข้ามาลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น

"ที่ผ่านมาเราได้เห็นผลกระทบในเชิงบวกจากการดำเนินโครงการ PPP ของรัฐที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งช่วยดึงดูดให้ภาคเอกชนสนใจเข้ามาลงทุนในโครงการ PPP โดยรูปแบบการลงทุน PPP ที่สร้างสรรค์และมีความยืดหยุ่นจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการอย่างต่อเนื่องในอนาคต" นาย แกรี่ กล่าว

นาย แกรี่ กล่าวต่อว่า โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีการกำหนดรูปแบบการร่วมลงทุนที่เหมาะสม จะช่วยให้ผลตอบแทนการลงทุนทางการเงินมีความน่าดึงดูดต่อนักลงทุน และสร้างโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจ เช่น โครงการพัฒนาระบบขนส่งจะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจในกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งหากภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการ PPP อย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมส่งผลให้เกิดการแข่งขันในการประมูลโครงการลงทุนในอนาคตมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประมูลโครงการที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม

แนวโน้มตลาดโครงสร้างพื้นฐานของไทย

รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะสองถึงสามปีข้างหน้าจะเน้นไปที่การพัฒนาโครงการสำคัญในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงการในภาคขนส่ง โดยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) จะยังคงเป็นรูปแบบการดำเนินการสำคัญในการพัฒนาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยในอนาคต

ด้านนาย มาร์ค แรธโบน หัวหน้าสายงานสายงานโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการลงทุนประจำเอเชียแปซิฟิก PwC ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า นโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ของไทยยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก และการร่วมลงทุนจะยังคงเป็นวิธีหลักในการพัฒนาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยต่อไป

"ปัจจัยสำคัญสำหรับภาครัฐในการดำเนินโครงการ PPP ในอนาคตคือ การบริหารจัดการข้อจำกัดทางการคลัง และการบรรเทาความเสี่ยงให้ภาคเอกชนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนในโครงการ PPP มากขึ้น"

"นอกเหนือจากภาคขนส่ง ซึ่งเป็นภาคการลงทุนที่ไทยมีประสบการณ์ค่อนข้างมาก การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ยังมีโอกาสอีกมากที่จะถูกนำไปใช้ในภาคส่วนอื่น ๆ เช่น การดำเนินโครงการ PPP ในโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม หรือ Social Infrastructure เช่น โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และโรงพยาบาล"

"ภาครัฐอาจทบทวนและพิจารณากฎระเบียบและนโยบายที่เกี่ยวข้องให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อส่งเสริม PPP และอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนให้กับภาคเอกชนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการ ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้การพัฒนาและดำเนินโครงการ PPP มีความกระชับและคล่องตัวยิ่งขึ้น" นาย มาร์ค กล่าว

โครงสร้างฟื้นฐานช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19  

ในระยะยาว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยภาครัฐและภาคเอกชนได้เริ่มดำเนินโครงการและนโยบายในด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development) ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) เมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) พลังงานทดแทน การซื้อขายพลังงานไฟฟ้า (Power Trading) และระบบ 5G

"โครงสร้างพื้นฐานมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจโลกและไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ไทยมีโอกาสอีกมากในการพัฒนา และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในโลกยุคหลังโควิด-19 ได้" นาย มาร์ค กล่าวทิ้งท้าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ