สทนช. รับนโยบาย "พลเอก ประวิตร" เร่งหารือหน่วยงานเกี่ยวข้อง พร้อมระดมมันสมองผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ เตรียมจัดตั้งคณะทำงานชุดพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มในแม่น้ำสายสำคัญได้อย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ พลเรือเอก พิเชฐ ตานะเศรษฐ คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานการประชุมหารือเรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มในแม่น้ำสายสำคัญ และข้อเสนอโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและรอบอ่าวไทย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทีมอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการจัดทำผังน้ำ (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา/ลุ่มน้ำท่าจีน/ลุ่มน้ำบางปะกง/ลุ่มน้ำแม่กลอง) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สทนช. ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในการติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง ณ เขื่อนพระราม 6 จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มอย่างยั่งยืน เนื่องจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจัดสรรน้ำจากเขื่อนเพื่อผลักดันน้ำเค็มนั้น เป็นการเสียน้ำต้นทุนจำนวนมาก และจากสถิติย้อนหลังการใช้น้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง มีปริมาณสูงขึ้นทุกปี โดยปี 58/59 ใช้น้ำรวม 2,934 ล้าน ลบ.ม. ปี 62/63 ใช้น้ำรวม 3,690 ล้าน ลบ.ม. และปี 63/64 (ช่วงวันที่ 1 พ.ย. 63-6 มี.ค. 64) ใช้น้ำไปแล้วรวม 2,355 ล้าน ลบ.ม นอกจากนี้ เมื่อช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา ค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยามีค่าสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยมีค่าความเค็มสูงสุดอยู่ที่ 2.53 กรัม/ลิตร (มาตรฐานในการผลิตน้ำประปาต้องไม่เกิน 0.5 กรัม/ลิตร และน้ำเพื่อการเกษตรต้องไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร) ซึ่งส่งผลกระทบต่อน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนและพืชผลทางการเกษตร
"ที่ประชุมได้เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มในแม่น้ำสายสำคัญ ประกอบด้วย 1.การเพิ่มน้ำต้นทุน โดยการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ตอนบน และการผันน้ำจากลุ่มน้ำข้างเคียงเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาล 2.ลดการใช้น้ำที่สูญเสียระหว่างทาง จากแหล่งน้ำมายังปลายน้ำ โดยการควบคุมการใช้น้ำทั้งภาคเกษตรและอื่นๆ ที่อยู่นอกแผนอย่างเคร่งครัด รวมถึงอาจมีมาตรการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก 3.การย้ายจุดสูบน้ำเพื่อจัดทำระบบประปาให้ไกลออกไปจากปากแม่น้ำ เพื่อลดอิทธิพลการรุกของน้ำทะเล และ 4.การสร้างประตูที่เหมาะสมป้องกันน้ำทะเลรุกในแม่น้ำ 4 สายหลัก ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบด้านถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงแนวทางการป้องกันผลกระทบดังกล่าวด้วย" เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ทั้งนี้ สทนช. จะนำผลการหารือที่ได้ไปจัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐาน เพื่อนำเรียนรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ทราบ และนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ยังจะดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานชุดพิเศษเป็นการเฉพาะเพื่อพิจารณาทางเลือกเพิ่มเติม ที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานปฏิบัติและผู้ทรงคุณวุฒิด้านน้ำจากสถาบันการศึกษา เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานให้สามารถกำหนดเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน นำไปสู่การขับเคลื่อนแนวทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังอยู่ในระหว่างดำเนินการศึกษาจัดทำผังน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยเดินหน้าไปแล้ว 8 ลุ่มน้ำ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้ง 22 ลุ่มน้ำในปี 2566 และในปี 2565 สทนช. ยังมีโครงการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ทางเลือกที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อการบริหารจัดการน้ำกรณีเกิดวิกฤตในอนาคตด้วย