อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมกิจกรรม "พลังชุมชนรักษ์ป่าต้นน้ำสู่สายธารกว๊านพะเยา" พร้อมทำฝายชะลอน้ำ เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูงในจังหวัดพะเยา

ข่าวทั่วไป Thursday March 11, 2021 16:24 —ThaiPR.net

อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมกิจกรรม

วันนี้วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ได้รับเมตตาพระเดชพระคุณจาก พระเมธีวชิโรดม ว.วชิรเมธี และ คณะธรรมยาตราฯ ในการทำกิจกรรมบวชป่า ทำฝายชะลอน้ำ เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูง โดยมหาวิทยาลัยพะเยา ในการนำของ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศ์บางโพธิ์ พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมกิจกรรม การขับเคลื่อนพลังชุมชนรักษ์ป่า รักษ์นกยูง "พลังชุมชนรักษ์ป่าต้นน้ำสู่สายธารกว๊านพะเยา" ณ อ่างเก็บน้ำห้วยถ้ำ ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ในการนี้ได้รับเกียรติจากประธานในพิธี รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ท่านสวัสดิ์ หอมนาน และผู้กล่าวว่ารายงาน รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาเรือ ท่านประกาย ใจบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศ์บางโพธิ์ กล่าวว่า "มหาวิทยาลัย มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะอนุรักษ์นกยูงไทยและผืนป่าแม่กา แม่นาเรือแห่งนี้ ไว้ให้อุดมสมบูรณ์ ในอนาคตซึ่งจะมีโครงการต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีอาคารศูนย์การเรียนรู้นกยูงไทย ที่จะเป็นศูนย์กลางการอนุรักษ์และเรียนรู้นกยูงไทยอย่างครบวงจร มหาวิทยาลัยจึงอยากจะสร้างสภาพแวดล้อมต้นแบบของการอยู่ร่วมกัน ระหว่างคนกับนกยูงอย่างครบวงจร นกยูงไทย ป่า และคนจะต้องสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข การอนุรักษ์และการพัฒนาจะดำเนินไปควบคู่กันอย่างสมดุล นี่เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยตั้งใจที่จะทำโดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน" ทั้งนี้มหาวิทยาลัยพะเยา โดย สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ศูนย์การเรียนรู้นกยูงไทย พร้อมเครือข่ายอนุรักษ์นกยูงไทย ได้ดำเนินการจัดงาน "พลังชุมชนรักษ์ป่าต้นน้ำสู่สายธารกว๊านพะเยา" การเดินธรรมยาตรา บวชป่า ทำฝายชะลอน้ำ ผืนป่าต้นน้ำห้วยถ้ำ ถิ่นที่อยู่อาศัยนกยูงไทย ร่วมกับชุมชน ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการบูรณาการการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัด ตามแผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ อย่างยิ่งสำหรับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลแม่นาเรือ จึงควรต้องให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่ไปกับการสร้างฝ่ายทำให้พื้นดินเกิดการอุ้มน้ำ เพื่อส่งผลดีต่อบริเวณโดยรอบ และเป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคของมนุษย์และสัตว์ ตลอดจนภาคการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับแนวพระราชดำริ ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เกี่ยวกับการพัฒนา และฟื้นฟูป่าไม้ ด้วยการสร้างฝ่ายต้นน้ำ โดยใช้ทรัพยากรที่เอื้ออำนวย เกิดการสัมพันธ์ซึ่งกันและกันก่อให้เกิด ประโยชน์สูงสุดต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ