กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. MOU มูลนิธิ ณภาฯ ต่อยอดการพัฒนาสารสกัดสมุนไพรและหัตถกรรมท้องถิ่นสู่ระดับสากล
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมูลนิธิ ณภาฯ ในพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สนับสนุนการศึกษาวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากพืชสมุนไพรและหัตถกรรมท้องถิ่น ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) และผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษก อว. ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมี นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ และนายเอกภพ เดชเกรียงไกรสร รองประธาน มูลนิธิ ณภาฯ เป็นผู้แทนลงนาม ณ อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เปิดเผยหลังการลงนามว่าความร่วมมือฯครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากพืชสมุนไพรและหัตถกรรมท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยจะร่วมกันกำหนดทิศทางการวิจัย การเสริมสร้างศักยภาพ องค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาในระดับเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ และใช้องค์ความรู้ภูมิปัญญาของชุมชนเป็นแกนหลักในการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น วางรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคตโดยยึดหลัก BCG Model นำวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอดให้ได้สินค้าที่มีเอกลักษณ์และมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ทั้งนี้ วศ. มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาสมุนไพร ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ต่อยอดผลงานด้านสารสกัดจากพืชสมุนไพรและหัตถกรรมท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดย วศ. จะช่วยวิจัยและพัฒนากระบวนการการผลิตผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุเหลือทิ้ง เช่น ดอกดาวเรืองที่ประชาชนผู้มีศรัทธานำมากราบไหว้ขอพรหลวงปู่ศรีสุทโธ ณ คำชะโนด อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน วศ. สามารถจัดเก็บดอกดาวเรืองมาทำให้แห้งด้วยตู้อบแสงอาทิตย์ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น เพื่อเป็นวัตถุดิบเก็บไว้ใช้ในการพัฒนากระบวนการย้อมสีเส้นใยธรรมชาติ เช่น เส้นใยฝ้าย เส้นใยไหม สำหรับทำเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่มีสีสวยงาม สีมีความคงทนต่อแสงและความคงทนต่อการชักได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่มีความหมายดีเพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ซื้อกลับไปเป็นที่ระลึก ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนและลดภาระการจัดการของเหลือทิ้งในพื้นที่คำชะโนดได้อีกทางหนึ่งด้วย