ก.ล.ต. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี EU-Asia Pacific Forum on Financial Regulation ครั้งที่ 5 เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลในสหภาพยุโรปและเอเชียแปซิฟิก ในการส่งเสริมให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ในรูปแบบ virtual meeting เป็นครั้งแรก
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดการประชุม EU-Asia Pacific Forum on Financial Regulation ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 โดยนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. ได้กล่าวเปิดการประชุมและทำหน้าที่ดำเนินการประชุมร่วมกับ Mr. Ugo Bassi ผู้ดำรงตำแหน่ง Director of Financial Markets, DG FISMA, European Commission เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลในสหภาพยุโรป ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ European Commission (EC) และ European Securities and Markets Authority (ESMA)
และสมาชิก IOSCO ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมจำนวน 19 หน่วยงาน จาก 14 ประเทศ
เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า "แม้ว่าอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สำนักงาน ก.ล.ต. ยังคงมีความ
ตั้งใจจริงในการจัดประชุม EU-Asia Pacific Forum on Financial Regulation เพื่อให้การหารือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลได้ดำเนินต่อไปตามวัตถุประสงค์ของการประชุม โดยจัดในรูปแบบการประชุมออนไลน์ ทั้งนี้
ความไม่แน่นอนที่เกิดจากการแพร่ของโรคระบาดได้เน้นย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนความรู้
และประสบการณ์ของประเทศสมาชิกในภูมิภาคยุโรปและเอเชียแปซิฟิกที่ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน
อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างตลาดการเงินให้มีความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน"
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้นำเสนอและร่วมหารือในประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ เช่น มาตรการทางการเงินและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 การสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรที่เป็นผู้กำหนดมาตรฐานสากลสำหรับการเปิดเผยข้อมูลด้านการเงินที่ยั่งยืน (sustainable finance) การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาและกำกับดูแล (digitalization) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการเงิน (fintech) และการกำกับดูแลที่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการเงิน รวมทั้งพัฒนาการของกฎเกณฑ์ในแต่ละภูมิภาค (emerging and cross-border regulatory development) เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางให้กฎเกณฑ์มีความสอดคล้องกันมากขึ้นต่อไป