มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ ขับเคลื่อนการวิจัยทางการแพทย์ ลงทุนเครื่อง GCxGC-TOF MS แบบ 4 มิติ ที่มีเพียง 1 ใน 2 แห่งของประเทศไทย ชูเทคโนโลยีตรวจสอบสารประกอบอินทรีย์ระเหยที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อวิจัยยางพาราแยกสารก่อมะเร็งและวิเคราะห์สารจากพืชจากกัญชาและกัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ พร้อมเปิดให้นักวิจัย เกษตรกร และผู้ประกอบการใช้บริการ ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์
นางรุสนี กุลวิจิตร หัวหน้าฝ่ายบริการเครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า พันธกิจของทาง ม.อ.มุ่งมั่นการวิจัย เพื่อการพัฒนาภาคใต้และประเทศเชื่อมโยงสู่สังคมและเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และทดสอบ ดำเนินการจัดซื้อเครื่อง GCxGC-TOF MS แบบ 4 มิติ เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่หน่วยงานวิจัยนำมาใช้งานเป็น 1 ใน 2 แห่งของประเทศไทย โดยจะมุ่งเน้นงานวิจัยยางพารา เพื่อช่วยแยกสารอันตรายที่จะก่อให้เกิดมะเร็งจากสารขึ้นรูปยางและเพิ่มโอกาสในการส่งออกยางของประเทศไทยมากขึ้น และการวิจัยทางด้านการแพทย์ในการวิเคราะห์สารสำคัญต่างๆ จากพืช เช่น กัญชา และกัญชง เพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์
สำหรับเครื่อง GCxGC-TOF MS แบบ 4 มิติ เป็นเครื่องที่วิเคราะห์สารอินทรีย์ระเหยในตัวอย่างที่ซับซ้อน เพื่อแยก วิเคราะห์ ยืนยัน หาลักษณะ และตรวจสอบเอกลักษณ์ของสารประกอบอินทรีย์สำคัญ โดยระบบของเครื่องเป็นการใช้คอลัมน์แยก 2 คอลัมน์ ซึ่งมีเฟสคงที่แตกต่างกันต่อเชื่อมกันเป็นอนุกรมผ่านโมดูเลเตอร์ การใช้กลไกการแยกของ 2 คอลัมน์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแยกสารทางโครมาโทกราฟีได้มากขึ้น
นอกจากนั้นระบบ GCxGC ต่อเข้ากับส่วน เฮดสเปซ และเฮดสเปซโซลิดเฟสไมโครเอกซ์แทรกชัน แบบอัตโมมัติ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับตัวอย่างได้หลากหลายประเภท อาทิ การทดสอบได้ทั้งตัวอย่างของแข็งและของเหลว เช่น ตัวอย่างทางด้านสิ่งแวดล้อม ปิโตรเลียม ยาง อาหารสารแต่งกลิ่นในอาหาร เครื่องดื่ม กรดไขมัน สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สารสกัดจากพืช ผลิตภัณธ์ธรรมชาติ น้ำหอม น้ำมันหอมระเหย เมแทบอโลมิกส์ และตัวอย่างทางนิติวิทยาศาสตร์ พิษวิทยา และอื่นๆ
ทั้งนี้ สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ ม.อ. ปัจจุบันมีความพร้อมในการรองรับผู้มาใช้บริการในทุกๆ ด้าน ทั้งเครื่องมือ เทคนิค และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ โดยเครื่อง GCxGC-TOF MS แบบ 4 มิติ เปิดโอกาสนักวิจัย เกษตรกร ต้องการวิจัยและพัฒนาการสกัดน้ำมันจากพืชด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือต้องการวิเคราะห์คุณสมบัติของสาร ตลอดจนผู้ประกอบการที่ต้องการวิเคราะห์คุณภาพของสารต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ สามารถเข้ามาใช้บริการได้
สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับบริการสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ติดต่อได้ที่ โทร. 074-286-904-7, 089-734-2482, 084-407-1732 อีเมล osit@group.psu.ac.th Facebook : www.facebook.com/ositpsu Line Id : @ositpsu เว็บไซต์ : osit.psu.ac.th