เอสซีจี จับมือเครือข่าย ชู "เลิกแล้ง เลิกจน" โมเดล หลังพิสูจน์แล้ว ชุมชนมีน้ำกิน-ใช้ รายได้เพิ่ม อาชีพมั่นคง ชวนขยายเครือข่ายทั่วไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday March 16, 2021 11:06 —ThaiPR.net

เอสซีจี จับมือเครือข่าย ชู

เกษตรกรไทยมีความหวัง หลังเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งสาหัส ไม่มีน้ำกิน-ใช้ ผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ขาดรายได้ เอสซีจี ร่วมมือมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สสน. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หอการค้าแห่งประเทศไทย ชวนเครือข่ายขยายผล "เลิกแล้ง เลิกจน" โมเดล ชู 6 ขั้นตอน เอาชนะปัญหาภัยแล้ง และความยากจน ได้แก่ 1. รู้รักสามัคคี พึ่งพาตนเอง 2. เรียนรู้จัดการน้ำ ด้วยเทคโนโลยี 3. หาน้ำได้ เก็บน้ำไว้ ใช้น้ำเป็น 4. ทำเกษตรผสมผสาน บริหารความเสี่ยง 5. เข้าใจตลาด เข้าใจลูกค้า 6. เศรษฐกิจเพิ่มคุณค่า ชุมชนพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งถอดความสำเร็จจากโครงการบริหารจัดการน้ำที่เอสซีจีทำมากว่า 10 ปี ตั้งแต่การสร้างฝายชะลอน้ำกว่า 100,000 ฝาย การทำสระพวง แก้มลิง โครงการ "เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง" เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเอสซีจีครบรอบ 108 ปี และโครงการ "พลังชุมชน" ส่งเสริมวิสาหกิจสร้างรายได้ให้ชุมชน พร้อมเดินหน้าขยายผล "เลิกแล้ง เลิกจน" โมเดล สู่ชุมชนทั่วประเทศต่อไป

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า "ความยากจนคือ ปัญหาสำคัญของสังคมไทย ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาแล้งซ้ำซาก หนทางที่ชุมชนจะเลิกแล้ง เลิกจนได้อย่างยั่งยืน คนในชุมชนต้องร่วมกันแก้ปัญหาด้วยตนเอง ด้วยการใช้ความรู้ ใช้เครื่องมือสารสนเทศ เพื่อจัดการแหล่งน้ำ รวมถึงคนในชุมชน มีส่วนร่วม สามัคคี และส่งเสริมให้เกิดคุณธรรม ด้วยการแบ่งปันการใช้น้ำอย่างเป็นธรรม

จากปัญหาภัยแล้งในปีนี้ที่มีสัญญาณรุนแรงขึ้น ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้ามาร่วมมือสนับสนุนชุมชน ให้รอดจากภัยแล้ง ความยากจน ด้วยการใช้ "เลิกแล้ง เลิกจน" โมเดล ซึ่งถอดบทเรียนจากความ สำเร็จของการจัดการน้ำชุมชนที่เอสซีจี และเครือข่ายได้ดำเนินมากว่า 10 ปี และโครงการ "เอสซีจี ร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง" ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส เอสซีจี ครบรอบ 108 ปี ซึ่งเป็นไปตามหลักการทรงงานที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นแนวทางการทรงงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานดังกล่าวสืบต่อไป"

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า "ตัวอย่างความสำเร็จของชุมชนที่สามารถเลิกแล้ง เลิกจน และมีรายได้ตลอดทั้งปี จนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล มั่นคง ล้วนเกิดจากประชาชนลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำ อย่างเข้มแข็ง เหมาะสมกับพื้นที่ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละชุมชน

อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศไทย เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้อง และต้องร่วมกันผลักดันขยายผล "เลิกแล้ง เลิกจน" โมเดล เพื่อให้ชุมชนไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง และมีรายได้ที่มั่นคงเป็นชุมชนที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง"

ในปี 2564 วิกฤติภัยแล้งจะรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่มีจำนวนมากถึงร้อยละ 80 ของประเทศ ดร.รอยล จิตดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า "ปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อน มีน้ำไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการเกษตรในช่วงฤดูแล้งปี 2564 มีชุมชนที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤติกว่า 30,000 ชุมชน ในพื้นที่ภาคเหนือ และอีสาน ดังนั้น การพึ่งพาน้ำในเขื่อนเพียงอย่างเดียวคงทำให้รอดพ้นภัยแล้งได้ยาก เกษตรกรจึงต้องร่วมมือกันซ่อมบำรุงแหล่งน้ำ หันมาเก็บกักน้ำ และบริหารน้ำในพื้นที่ตัวเอง ใช้น้ำหมุนเวียน และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ปลูกพืชหลากหลายลดพืชเชิงเดี่ยว เพื่อให้เพียงพอ และมีรายได้ที่ยั่งยืน"

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า "ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีร่วมกับเครือข่ายแก้ปัญหาภัยแล้ง สืบสาน รักษา ต่อยอดตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเริ่มจากการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่าต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์ ซึ่งสร้างไปแล้วกว่า 100,000 ฝาย การทำสระพวง แก้มลิง ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำชุมชน ต่อยอดสู่โครงการเอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้สามารถพลิกชีวิตความเป็นอยู่ให้กับ 250 ชุมชน 47,500 ครัวเรือน ใน 30 จังหวัด มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า" รวมถึงต่อยอดโครงการ "พลังชุมชน" อบรมความรู้ คู่คุณธรรม ให้สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม เรียนรู้การตลาด การค้าขาย สร้างรายได้เพิ่มขึ้น

  • สามัคคี พึ่งตนเอง เรียนรู้ ลงมือทำ แก้ปัญหาด้วยความรู้คู่คุณธรรม
  • เรียนรู้จัดการน้ำ ด้วยเทคโนโลยี เรียนรู้การจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เข้าใจสภาพพื้นที่ รู้ความต้องการใช้น้ำของตนเองและชุมชน และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทำแผนที่น้ำ ผังน้ำ วางแผนบริหารสมดุลน้ำ
  • หาน้ำได้ เก็บน้ำไว้ ใช้น้ำเป็น สร้างแหล่งกักเก็บน้ำ สำรองน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเกษตร
    ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของชุมชน ใช้น้ำซ้ำให้คุ้มค่าด้วยระบบน้ำหมุนเวียน ฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน
  • ทำเกษตรผสมผสาน บริหารความเสี่ยง โดยปลูกพืชเพื่อกิน เพื่อใช้ เพื่อขาย สร้างรายได้ตลอดทั้งปี ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำเกษตรอัจฉริยะ ใช้เทคโนโลยี วางแผนเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และภูมิอากาศ เช่น ปลูกพืชใช้น้ำน้อยในพื้นที่แล้ง
  • เข้าใจตลาด ตรงใจลูกค้า ปลูกพืชที่เป็นความต้องการของตลาด แปรรูปผลผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการขายผ่านช่องทางตลาดที่เข้าถึงลูกค้า
  • เศรษฐกิจเพิ่มคุณค่า ชุมชนพัฒนาอย่างยั่งยืน การรวมกลุ่มชุมชนให้เข้มแข็ง จัดการผลผลิตเกษตร การตลาด การจัดการเงินและสวัสดิการ
    "เอสซีจี เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า "เลิกแล้ง เลิกจน" โมเดล เป็นบทพิสูจน์ว่า ชุมชนสามารถแก้ปัญหา ภัยแล้ง และเลิกจนได้เป็นผลสำเร็จ และเอสซีจีจะร่วมผลักดัน "เลิกแล้ง เลิกจน" โมเดล ร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยเอาชนะสงครามยากจนโดยเร็ววัน"
  • นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "ภาครัฐมีนโยบาย การแก้ไขปัญหาน้ำ 4 เรื่องสำคัญ คือ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่ออุตสาหกรรม และน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปีนี้ จะดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีน้ำอุปโภค บริโภคอย่างเพียงพอ ไม่ขาดแคลน สำหรับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาน้ำ และสนับสนุนกรมชลประทาน ทั้งในและนอกเขตชลประทาน รวมถึงทุกภาคส่วนของราชการพร้อมที่จะร่วมเดินหน้าผลักดัน เลิกแล้ง เลิกจน โมเดล อย่างเต็มที่สุด เพื่อช่วยประชาขนแก้ปัญหาภัยแล้ง และความยากจนให้หมดไป"

    ด้าน นายมานพ ปั้นเหน่ง บ้านสาแพะเหนือ จังหวัดลำปาง กล่าวว่า "ในอดีตหมู่บ้านสาแพะเหนือ ต้องเจอกับวิกฤติภัยแล้งมาตลอด มีรายได้จากการทำนาเพียงปีละครั้ง พวกเราจึงตัดสินใจรวมตัวกันลุกขึ้นแก้ไขปัญหา เพื่อให้รอดพ้นจากภัยแล้ง และความยากจน โดยมีเอสซีจี และ สสน. เป็นพี่เลี้ยง ตั้งแต่การสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ภูเขา เพื่อกักเก็บน้ำ ได้เรียนรู้วิธีการทำสระพวง การทำฝายใต้ทราย เพื่อกักเก็บน้ำทำเกษตรให้มาก และนานที่สุด โดยไม่ปล่อยให้น้ำไหลหลากทิ้งไป คนในหมู่บ้านจะมา "เอามื้อ" (ช่วยกันออกแรง) คนละไม้ละมือ ทั้งงานก่อสร้าง งานขุดลอก และเปลี่ยนมาเพาะปลูกพืชหลายชนิด อาทิ ถั่วพุ่ม เป็นพืชส่งออกญี่ปุ่น ที่ราคาดี และพืชที่เหมาะกับการใช้น้ำในแต่ละฤดู วันนี้ แต่ละครอบครัว มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม 3 เท่า สามารถทำเกษตรได้ทั้งปี"

    เอสซีจีและเครือข่ายพันธมิตรเชื่อมั่นว่า หากชุมชนมีความสามัคคีและลุกขึ้นมาจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเอง โดยใช้ความรู้และเทคโนโลยีในการวางแผนการใช้น้ำ จะช่วยให้มีน้ำสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน โดยชุมชนที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) โทร.086-626-6233 หรืออีเมล agro@hii.or.th


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ