ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. บันทึกเทปให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ MCOT HD ประเด็น "การดำเนินงานในโครงการ พรก. เงินกู้...BCG MODEL & ICPIM"

ข่าวทั่วไป Wednesday March 17, 2021 15:12 —ThaiPR.net

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. บันทึกเทปให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ MCOT HD ประเด็น

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บันทึกเทปให้สัมภาษณ์รายการข่าวภาคค่ำ สถานีโทรทัศน์ MCOT HD ช่อง 9 อสมท. ในประเด็นการดำเนินงานภายใต้โครงการพระราชกำหนดเงินกู้ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM) และโครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตกด้วย BCG โมเดล ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ภายใต้แนวคิด "ศาสตร์ปันสุข" ในวันพุธที่ 17 มีนาคม 2564 ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคาร Admin วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี

ทั้งนี้ วว. ดำเนินโครงการศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ ICPIM ที่เป็นโรงงานด้านโพรไบโอติกและพรีไบโอติก มีนักวิจัยและเครื่องมือที่ทันสมัยได้มาตรฐานระดับสากล นำจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในไทยมาคัดเลือกวิจัยหาวิธีดึงประโยชน์จากจุลินทรีย์ไทยมาใช้ให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนมากเข้ามาใช้บริการเชื้อจุลินทรีย์ และนวัตกรรมเชื้อจุลินทรีย์ของศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม วว. ตั้งเป้าจะขยายการพัฒนานวัตกรรมจุลินทรีย์ไทยให้ส่งออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2025 นวัตกรรมด้านจุลินทรีย์ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงขึ้นกว่า 3,000-4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 93,000-125,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ วว. ยังดำเนินงานวิจัยพัฒนา สนองนโยบาย BCG Model เพื่อยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ กระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงาน โดยประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนและเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้

**การพัฒนากระบวนการผลิตด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อผลิตน้ำตาลไอโซโมทูโลส นวัตกรรมน้ำตาลที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต "น้ำตาลพาลาทีน" ให้แก่ บริษัทน้ำตาลราชบุรี โดยมีกำลังการผลิต 60 ตันต่อปี มูลค่าทางเศรษฐกิจ 10 ล้านบาทต่อปี และจะมีการขยายเพื่อการส่งออก

**การพัฒนาสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำถิ่นสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วว. ทดสอบคุณภาพและประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนจังหวัดน่านเป็นผู้ผลิตสารสกัดสมุนไพรส่งให้ บริษัทไลอ้อน ประเทศไทย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาสีฟันตรีผลา มีมูลค่าการตลาดประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเส้นผม คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าด้านเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

**ไบโอเมทานอลจากวัสดุเหลือทิ้ง วว. นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมไฟฟ้าถ่านหินมาเพิ่มมูลค่าร่วมกับก๊าซไฮโดรเจน ก๊าซมีเทน และกลีเซอรอลดิบ ในการผลิตไบโอเมทานอลระดับกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดการสร้างโรงงานไบโอเมทานอลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันบริษัท BLCP power นำผลงานวิจัยนี้ไปขยายผลและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดการนำเข้าเมทานอล ทั้งนี้ความต้องการไบโอเมทานอลของประเทศไทย ประมาณการในปี 2564 คิดเป็นปริมาณ 1,076 ล้านลิตรต่อปี ในกรณีมีโรงงานผลิตเมทานอล 60 โรง จะก่อให้เกิดการผลิตไบโอเมทานอลในประเทศ 1,095 ล้านลิตรต่อปี โดยเป็นการทดแทนจากการนำเข้าเมทานอล 100 %

**สารชีวภัณฑ์ (Bioproducts) วว. ผลิตจากจุลินทรีย์สำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่มีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารพิษตกค้าง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ นับเป็นการส่งเสริมงานวิจัยสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นรูปธรรม โดย วว. ถ่ายทอด "สารชีวภัณฑ์" ในจังหวัดภาคกลางตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และอยุธยา ทำให้ลดต้นทุนเกษตรกร 172.5 ล้านบาท และลดการนำเข้าสารเคมีเกษตร 241.5 ล้านบาท

การดำเนินงานของ วว. ภายใต้โครงการพระราชกำหนดเงินกู้ดังกล่าว มีผลงานที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ได้จริงและมีความสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่ง วว. นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นกลไกขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จและจะดำเนินงานต่อเนื่องเพื่อความมั่นคงเข้มแข็งของเศรษฐกิจประเทศต่อไป