กรณีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่หลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาอยู่นั้น ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้ปัญหาดังกล่าว ได้แก่ ปัญหาที่ดินโฉนดตกน้ำ จนกลายเป็นข้อขัดแย้งของชุมชนและหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทุกมิติ บนพื้นฐานของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ลงพื้นที่คลองเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อตรวจสภาพพื้นที่และหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง โดยจะได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน พร้อมยกพื้นที่ชุมชนคลองเสาธงเป็นพื้นที่ต้นแบบ ก่อนขยายผลในพื้นที่อื่น ต่อไป
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาชายฝั่งทะเลเกิดการกัดเซาะเป็นปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อน และสร้างผลกระทบโดยตรงให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเล นอกจากปัญหาชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะ ยังมีอีกปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา ได้แก่ ปัญหาที่ดินโฉนดตกน้ำ ซึ่งกลายเป็นข้อขัดแย้งทางกฎหมายที่สร้างผลความเดือดร้อนอย่างมากให้กับพี่น้องประชาชน ตนคิดว่า ปัญหาดังกล่าวสามารถยุติได้ โดยทุกฝ่ายต้องพร้อมที่จะคุยกันอย่างจริงจังและยึดประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน บนพื้นฐานของข้อกฎหมาย ทั้งนี้ ตนได้ให้นโยบายไว้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน ซึ่งทางด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะช่วยกำกับและติดตามอย่างใกล้ชิด อีกทั้ง ตนได้เน้นย้ำให้มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ประชาชนต้องรับรู้ รับทราบ และสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และที่สำคัญต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความขัดแย้งและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน นายวราวุธ กล่าว
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณชุมชนคลองเสาธง ต. บางปูใหม่ อ. เมือง จังหวัดสมุทรปราการ ว่า ทันทีที่ตนได้รับทราบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและปัญหาโฉนดตกน้ำ ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมานานนับ 10 ปี ภายหลังจากการก่อสร้างแนวเขื่อนหินกันคลื่นหินทิ้ง เมื่อปี 2545 และเขื่อนหินทิ้งริมฝั่ง เมื่อปี 2554 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินชาวบ้านถูกกัดเซาะจนหลายพื้นที่กลายเป็นที่ดินตกน้ำ ต่อไป หลังการก่อสร้างทำให้มีพื้นที่ดินเลนงอกใหม่ในพื้นที่ที่เคยกลายเป็นพื้นที่ตกน้ำ จนเกิดปัญหาการเรียกร้องสิทธิในพื้นที่ ตนจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ประสานหน่วยงานในพื้นที่ของกรมเจ้าท่า กรมที่ดิน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรปราการ และสำนักงานเทศบาลตำบลบางปู ประชุมหาแนวทางการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งและข้อกฎหมายเกี่ยวกับปัญหาที่ดินโฉนดตกน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน และเป็นปัญหาในหลายพื้นที่ต่อพี่น้องประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนและกลายเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ
โดยในวันนี้ (17 มีนาคม 2564) ตนได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พร้อมด้วย นายบรรเจิด อุดมสมุทรหิรัญ ผู้แทนเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยและผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ผู้แทนชาวบ้านชุมชนคลองเสาธงที่ประสบปัญหา พร้อมทั้งได้ลงตรวจสอบพื้นที่ชุมชนคลองเสาธง เพื่อหาแนวทางแก้ไข ทั้งนี้ จากการประชุมวันนี้ ทช. จะร่วมกับ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งทาง ดร. ปริญญา ได้กล่าวถึงข้อวินิจฉัยทางกฎหมายเกี่ยวกับปัญหาโฉนดที่ดินตกน้ำในหลายพื้นที่ ทั้งในกรณีเจ้าของที่ดินยังคงรักษาสิทธิในการครอบครอง หรือปล่อยทิ้งพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งหากจะแก้ไขปัญหาคงต้องเจรจาร่วมกันทุกฝ่ายและสร้างมาตรฐาน รวมทั้ง กลไกในการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ทช. และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะใช้พื้นที่ชุมชนคลองเสาธงเป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยจะขยายผลไปในพื้นที่อื่น ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถหาแนวทางยุติปัญหาได้ในทุกมิติตามนโยบายท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายโสภณ ทองดี กล่าวในที่สุด