LPN Wisdom ระบุ 4 นวัตกรรมงานบริการตอบโจทย์ "สังคมผู้สูงอายุ"

ข่าวอสังหา Monday March 22, 2021 11:41 —ThaiPR.net

LPN Wisdom ระบุ 4 นวัตกรรมงานบริการตอบโจทย์

LPN Wisdom ระบุ 4 นวัตกรรมงานบริการ เพื่อสุขภาพ, สภาพแวดล้อม, โภชนาการอาหาร และ เทคโนโลยี เป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะพัฒนาเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุ ในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาทต่อปี

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom) บริษัทวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเครือบริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน)(LPN) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 21% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในปี 2573 ทำให้การพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะงานด้านบริการ ที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ

ทีมพัฒนางานบริการ(Service Development Center :SDC) ของ LPN Wisdom ได้สำรวจและวิจัยพฤติกรรมผู้สูงอายุในปี 2563 ขณะที่เกิดการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) พบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ที่พักอยู่ในอาคารชุดภายใต้การบริหารของบริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด(LPP) เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อโดยมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 40,000 บาทต่อเดือน และมากกว่า 70% พักอาศัยอยู่ 1-2 คนในห้องขนาด 26-30 ตารางเมตร มีพฤติกรรมและความต้องการงานบริการที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับ 4 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย การดูแลสุขภาพ (Health), การปรับปรุงสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย (Living Environment), ให้ความสำคัญกับโภชนาการอาหาร (Food), และ มีความสนใจในการใช้เทคโนโลยี (Technology) มากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางในการพัฒนาธุรกิจบริการของผู้ประกอบการด้านบริหารจัดการอาคารชุด รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ที่จะพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุในปี 2564 และในอนาคต

ด้านสุขภาพ (Health): จากข้อมูลผู้สูงอายุของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในปี 2563 พบว่า 49% ของผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวอยู่ 2-5 โรคต่อคน โดยโรคที่เป็นส่วนใหญ่ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต และโรคมะเร็ง ทำให้ผู้สูงอายุมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพเพื่อการรักษาโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาที่ต่อเนื่องและยาวนาน จากการสำรวจของ LPN Wisdom ในปี 2563 สามารถแบ่งระดับสุขภาพผู้สูงอายุออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย

  • ระดับที่ 1 ช่วงอายุ 60-69 ปี: เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่สามารถใช้ชีวิต หรือทำกิจกรรมทั้งใน และนอกบ้านได้ตามปกติ แต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางด้านสุขภาพในอนาคต หากไม่ป้องกัน
  • ระดับที่ 2 ช่วงอายุ 70-79 ปี: เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่เริ่มมีการเสื่อมถอยของร่างกายหรือมีปัญหาด้านสุขภาพบ้างเล็กน้อย แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อาจต้องการอุปกรณ์หรือผู้ช่วยในบางครั้ง
  • ระดับที่ 3 อายุ 80 ปีขึ้นไป: เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันมีความสะดวกน้อยลง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในบางกิจกรรม ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ และผู้ดูแลให้ความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน

จากผลการวิจัยดังกล่าว เป็นโอกาสในการพัฒนางานบริการที่สามารถตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุในแต่ละช่วงอายุในด้านสุขภาพ ประกอบด้วย งานบริการผู้ดูแลผู้สูงอายุ, บริการเฉพาะกิจรับ-ส่งผู้สูงอายุไปยังโรงพยาบาล, บริการพาไปท่องเที่ยว และจับจ่ายใช้สอยในการเลือกซื้อสินค้า หรือวัตถุดิบมาใช้ประกอบอาหาร รวมทั้งการดูแลผู้สูงอายุในระยะที่ 2 และ 3 ในรูปแบบของสถานบริบาล(Nursing Home) ที่อยู่เฉพาะผู้สูงอายุ(Residential Home) บริการส่งผู้ดูแลไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน(Health at Home) สถานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ รวมไปถึงสถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาล และสถานดูแลระยะสุดท้าย ที่มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

จากรายงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าในปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุหรือคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 11.13 ล้านคน คิดเป็น 16.73% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 66.5 ล้านคนในปี 2562 และมีมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุอยู่ที่ 107,000 ล้านบาทในปี 2562 และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 5-10% ต่อปี

ด้านสภาพแวดล้อม(Living Environment): ที่พักอาศัยเป็นสถานที่ที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 และมลพิษจากฝุ่นละออง PM2.5 ทำให้พบว่าผู้สูงอายุมีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ในที่อยู่อาศัยเป็นหลักแทนการเดินทางออกไปพักผ่อนหรือพบปะเพื่อนฝูงภายนอกที่พักอาศัย

จากการสำรวจของ LPN Wisdom พบว่า 80% ของกิจกรรมที่ผู้สูงอายุทำอยู่ในที่พักอาศัย คือ ฟังวิทยุ ดูทีวี อ่านหนังสือ และมากกว่า 35% ใช้ Social Media ในการติดตามข่าวสาร และสนทนากับสมาชิกในครอบครัว

ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุมีความพึงพอใจที่จะพักอาศัยในสถานที่ที่สงบร่มรื่น และมีพื้นที่สีเขียว เป็นการใช้ธรรมชาติบำบัดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุเมื่อต้องทำกิจกรรมอยู่ในที่พักอาศัยเป็นหลักทำให้การพัฒนาและปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์กับการที่ต้องทำกิจกรรมต่างๆ ในที่อยู่อาศัยมากขึ้น เป็นโอกาสของการพัฒนางานบริการด้านการปรับปรุงที่พักอาศัยให้สามารถรองรับกับทุกกิจกรรมของผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตอยู่ในที่พักอาศัยเป็นหลัก

งานปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ต้องการของผู้สูงอายุจากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุให้ความสำคัญและใช้งานบ่อยกับ 3 พื้นที่ตามลำดับ คือห้องนอน ห้องน้ำ และพื้นที่ครัว โดยงานบริการปรับพื้นที่และสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับลักษณะการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ติดตั้งราวจับทรงตัวเฉพาะในจุดที่ใช้งานประจำ บางพื้นที่เปลี่ยนวัสดุปูพื้นเป็นแบบเรียบแต่ไม่ลื่น นุ่มแต่ไม่ยวบ การเปลี่ยนและปรับระดับเฟอร์นิเจอร์บางชนิดในห้อง ติดตั้ง ไฟอัตโนมัติพร้อมเซ็นเซอร์ บริเวณเตียงและทางเดิน เพื่อช่วยนำทางให้ผู้สูงอายุลุกเดินไปห้องน้ำในเวลากลางคืนได้สะดวกยิ่งขึ้น ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือในห้องน้ำ หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที บริการออกแบบมุมปลูกผักสวนครัวในห้อง แนะนำชนิดผักสวนครัวที่เหมาะกับพื้นที่ปลูกและช่วงเวลารับแสงแดดและวิธีการดูแล

ด้านโภชนาการอาหาร (Food): จากการสำรวจพฤติกรรมผู้สูงอายุในอาคารชุดปี 2563 พบว่า 95% ของการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุเป็นการใช้จ่ายเพื่ออาหารเป็นหลัก และเป็นการซื้ออาหารมาปรุงเอง แทนการสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยที่ "การทานอาหารเป็นยาเพื่อรักษาสุขภาพ" ทำให้ผู้สูงอายุให้ความสำคัญกับโภชนาการ โดยการปรุงอาหารเองหรือจากร้านที่เลือกใช้วัตถุดิบที่ผ่านการคัดสรรเป็นอย่างดี จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับผู้สูงอายุ

จึงเป็นโอกาสำหรับการพัฒนาธุรกิจด้านอาหารเพื่อสุขภาพที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุที่กำลังจะเป็นประชากรที่มีจำนวนประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในปี 2573 ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ด้านเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ (Technology): จากผลการสำรวจของ LPN Wisdom พบว่า พฤติกรรมผู้สูงอายุในปัจจุบันมีการใช้สื่อ Social Media ประมาณ 35% เพื่อติดตามข่าวสารภายนอก ใช้สนทนากับครอบครัว และผู้สูงอายุกว่า 80% นิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ย 3 ครั้งต่อเดือน แสดงให้เห็นถึงผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน และผู้สูงอายุยังให้ความสนใจใน Gadget อย่าง Smart Phone ที่มีหน้าจอขนาดใหญ่หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในที่พักอาศัยมากขึ้น เพื่อตอบรับการใช้งานได้ในทุกกิจกรรม

เทคโนโลยีจึงมีส่วนสำคัญที่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการดูแลผู้สูงอายุโดยสมาชิกในครอบครัวได้ง่ายขึ้น เช่น การทำ QR Code ข้อมูลส่วนตัวของผู้สูงอายุ กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินทำให้ผู้ช่วยเหลือสามารถสแกนข้อมูลและติดต่อไปยังญาติได้ การพบแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ ระบบปุ่มฉุกเฉินแบบไร้สายที่สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือไปยังญาติด้วยข้อความและภาพวิดีโอผ่าน Internet Cloud Server และส่งต่อไปยัง Smart Phone เพื่อการประสานขอความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว จึงเป็นโอกาสของการพัฒนาเทคโนโลยี่และ Application ต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอีกกลุ่มผู้ใช้งานที่มีกำลังซื้อสูงเมื่อเทียบกับลูกค้าในกลุ่มอายุอื่นๆ ในปัจจุบัน

"การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ สำหรับผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุ ที่เป็นประชากรที่มีความต้องการงานบริการที่มีคุณภาพสูงเมื่อเทียบกับประชากรในกลุ่มอื่นๆ ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยตั้งแต่ 100,000 ถึงมากกว่า 300,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17.9% ของจำนวนประชากรผู้สูงอายุโดยเฉลี่ย เป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ชาวต่างชาติสูงอายุเดินทางเข้าอยู่อาศัยเป็น Retirement Country ของกลุ่มชาวต่างชาติสูงอายุที่มีกำลังซื้อ โดยในปี 2563 มีผู้สูงอายุต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 90,000 คน โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปี มีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อเดือน เป็นอีกกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงหลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติให้วีซ่าระยะยาว 10 ปี สำหรับผู้มีเงินฝากไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท การทำธุรกิจบริการเพื่อผู้สูงอายุจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ" นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ