นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การดำเนินงาน Big Data เป็นนโยบายที่สำคัญของภาครัฐ ซึ่ง สศก. ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายและข้อมูลสารสนเทศการเกษตร และเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมาย ให้ดำเนินการ จึงได้เร่งจัดทำและพัฒนาฐานข้อมูล Big Data ภาคการเกษตร เพื่อการบริหารและการให้บริการข้อมูลภาคเกษตรในทุกมิติ โดยในปี 2564 จะเร่งศึกษาแนวทางการพัฒนาภาคเกษตร ด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศเชิงพื้นที่ เพื่อจัดทำระบบสนับสนุนการตัดสินทางการเกษตรที่แม่นยำ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา สศก. โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Big Data Center) หรือ NABC ได้มีการหารือร่วมกับศูนย์วิจัยระบบทรัพยากรเกษตร (ศวทก.) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อรรถชัย จินตะเวช และอาจารย์ ดร.เทวินทร์ แก้วเมืองมูล ถึงแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรจากการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการตัดสินใจทางการเกษตร โดยเน้นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงพื้นที่ (Spatial Information Systems) ตลอดจนวิธีการวิเคราะห์เชิงปริมาณ เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร สนับสนุนการตัดสินใจในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับแปลง ฟาร์ม ลุ่มน้ำจนถึงระดับภาค
สำหรับเทคโนโลยีพยากรณ์ ของ ศวทก. คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันมีการใช้แบบจำลอง Rice4cast จากโปรแกรมแบบจำลองการเจริญเติบโตของพืช (Decision Support System for Agrotechnology Transfer: DSSAT) ในการพยากรณ์ผลผลิตข้าวของประเทศไทย ซึ่งมีความแม่นยำสูง โดยใช้ตัวแปรปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ค่ารังสีจากดวงอาทิตย์ อุณหภูมิสูงสุด - ต่ำสุด ปริมาณน้ำฝน และคุณสมบัติของชุดดิน ซึ่งหลังจากนี้ สศก. จะร่วมพัฒนาแบบจำลองข้าว เพื่อพยากรณ์ผลผลิตข้าวรายจังหวัด ปีเพาะปลูก 2564/65 รวมถึงแนวทางการร่วมมือในอนาคตมาพยากรณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงานต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้หารือร่วมกันถึงแนวทางการขับเคลื่อน ในการปฏิรูปด้านการสร้างเกษตรมูลค่าสูง เพื่อการผลิต และการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production ) ซึ่งประกอบด้วยประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำเกษตรมูลค่าต่ำไปสู่มูลค่าสูงและเหมาะสมกับพื้นที่ สนับสนุนการทำเกษตรแบบรวมผลิตและรวมจำหน่าย (เกษตรแปลงใหญ่ หรือ สหกรณ์) การขยายพื้นที่ชลประทานให้เกษตรกรมีน้ำใช้ การพัฒนาคลัสเตอร์ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และส่งเสริมให้มีความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตร (Agricultural Biodiversity) การพัฒนาสหกรณ์การเกษตรให้มีความเข้มแข็งส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการด้านการจัดการเกษตรสมัยใหม่ (Service Provider) และสร้างผู้ประกอบการเกษตร (Smart Farmer) ตลอดจนส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงข้อมูล Big Data ด้านการเกษตร ใช้ประโยชน์จากดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวมถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร และเศรษฐกิจชีวภาพ ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio - Circular-Green Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว)
"หลังจากการหารือร่วมกันในครั้งนี้ สศก. จะมีการทำแผนประชุมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมการข้าว GISTDA มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และธนาคารแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาแบบจำลองข้าว เพื่อพยากรณ์ผลผลิตข้าวรายจังหวัด ด้วย Rice4cast และจะมีการจัดฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ สศก. ในการใช้ฐานข้อมูลและแบบจำลองดังกล่าวประกอบการรายงานความเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตพืชรายฤดู และรายแปลงผลิตต่อไป ภายในปีนี้ ซึ่งความแม่นยำของผลการพยากรณ์ จะมีส่วนสำคัญอย่างมากอย่างต่อกำหนดนโยบาย รวมทั้งสามารถ นำมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ในเชิงการผลิต การตลาด และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่าง เต็มประสิทธิภาพต่อไป" เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย