สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ดำเนินโครงการศูนย์กลางการลงทุนและการผลิตเครื่องประดับในภาคตะวันออก พื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด และจังหวัดสระแก้ว เพื่อยกระดับการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการพัฒนาให้เป็นแหล่งการค้าการลงทุนของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของโลก รวมถึงพัฒนาให้เป็นฐานการผลิต แหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ ตลาดซื้อขายพลอยมาตรฐาน และเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดนให้เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยสถาบันได้จัดงานสัมมนาหัวข้อ "รังสรรค์เครื่องประดับด้วยนวัตกรรม และการตลาดด้วย Photo Marketing" ได้รับเกียรติจาก นายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ณ ห้องไพลิน โรงแรมเอวาด้าโฮเต็ล จังหวัดตราด
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน เปิดเผยว่า "สถาบันฯ ให้ความสำคัญต่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและขยายช่องทางการตลาดของธุรกิจผู้ประกอบการท้องถิ่นหรือวิสาหกิจชุมชนให้สามารถปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในด้านการออกแบบ การผลิตที่มีคุณภาพและการตลาด เน้นการสร้างเครื่องประดับเชิงสร้างสรรค์ ที่มีอัตลักษณ์ของการออกแบบเครื่องประดับร่วมสมัยเชิงวัฒนธรรม คุณค่าและคุณภาพสูง นอกจากนี้แล้วยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีฐานความรู้ ความชำนาญ ในการต่อยอดความรู้สู่การสร้างนวัตกรรมและพัฒนาเพื่อสร้างตราสินค้าใหม่จากภูมิปัญญาท้องถิ่นความคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบเครื่องประดับร่วมสมัยเชิงวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ สร้างสังคมและการดำเนินธุรกิจสร้างสรรค์ต่อผู้ประกอบการในท้องถิ่น โดยบูรณาการร่วมกับการเท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยสามารถใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นผนวกกับองค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพเครื่องประดับร่วมสมัยเชิงวัฒนธรรม รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจ เสริมความพร้อมให้ทันกับการตลาดการค้าในยุคปัจจุบัน พร้อมทั้งแนวทางการตลาดแบบใหม่สำหรับการนำไปใช้ในธุรกิจ มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างแบรนด์ เพิ่มการเข้าถึงช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชนพึ่งตัวเองได้ในระยะยาวต่อไป"
ทั้งนี้ จังหวัดตราด ถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดพลอยที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีแหล่งอัญมณีพลอยแดง อยู่อำเภอบ่อไร่ ตำบลหนองบอน และตำบลช้างทูน ทั้งบนบกและในลำคลองที่กระแสน้ำพัดพาเม็ดพลอยมาตกค้างอยู่ตามก้นลำธาร สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งข้อมูลและประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวให้แก่ผู้สนใจโดยทั่วไปได้เป็นอย่างดีและยังมีแหล่งการค้าตลาดพลอยในอำเภอบ่อไร่ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตพลอยแดง หรือทับทิมสยาม ตลาดพลอยที่น่าสนใจ ได้แก่ ตลาดพลอยหัวทุ่ง ตลาดพลอยบ้านสระใหญ่ ตลาดพลอยหนองบอน ฯลฯ
สถาบันฯ เร่งเดินหน้าพัฒนาองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น ภายใต้โครงการศูนย์กลางการลงทุนและการผลิตเครื่องประดับในภาคตะวันออก และจะช่วยผลักดันบุคลากรที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของภูมิภาคตะวันออกให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศทั่วโลกได้อย่างยั่งยืน ต่อไป"