PwC แนะธุรกิจพลังงานไทยปรับกลยุทธ์สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน หลังโควิด-19 กระตุ้นทั่วโลกเดินหน้าสู่การลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 9, 2021 17:16 —ThaiPR.net

PwC แนะธุรกิจพลังงานไทยปรับกลยุทธ์สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน หลังโควิด-19 กระตุ้นทั่วโลกเดินหน้าสู่การลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

PwC ประเทศไทย แนะธุรกิจพลังงานไทยนำหลักการระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เพื่อมุ่งสู่ธุรกิจคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ชี้สามารถสร้างรายได้กลับคืนสู่ธุรกิจได้ถึงปีละ 10 ล้านบาท พร้อมคาดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะกระตุ้นให้ทั่วโลกเร่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์และส่งผลให้แนวโน้มการใช้พลังงานฟอสซิลลดลง

นางสาว อมรรัตน์ เพิ่มพูนวัฒนาสุข หัวหน้าสายงานธุรกิจพลังงาน และหุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย กำลังเผชิญกับความท้าทายจากผลกระทบของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ถูกเร่งตัวขึ้นหลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ ลักษณะของตลาด และรูปแบบธุรกิจของอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป รวมถึงกระแสการร่วมมือกันทางด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐและองค์กรธุรกิจชั้นนำทั่วโลกที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สุทธิ (Net Zero emissions) ภายในปี 2593 ตามปณิธานขององค์การสหประชาชาติ[1]

"การมุ่งสู่นโยบาย Net Zero ของทั่วโลกจะนำไปสู่การลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลประเภทน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ที่ถือเป็นตัวการหนึ่งในการทำลายภูมิอากาศของโลก ซึ่งจะส่งผลให้ขนาดของตลาดเชื้อเพลิงเหล่านี้หดตัวลง ขณะที่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานที่เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนจะสามารถนำทรัพยากรมาใช้หมุนเวียนได้ไม่จำกัดและส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เราคาดว่า ในอนาคตจะเห็นผู้ประกอบการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพของธุรกิจ รวมทั้งลดความเสี่ยงจากแนวโน้มการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถทดแทนได้งานที่จะลดลงเรื่อย ๆ" นางสาว อมรรัตน์  กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มประเทศมหาอำนาจอย่าง สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา รวมถึงญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ขณะที่สหภาพยุโรป ได้ประกาศแผนนโยบาย ข้อตกลงยุโรปสีเขียว[2] (European Green Deal) เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้นเช่นกัน

นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจชั้นนำทั่วโลกกว่า 400 แห่งรวมทั้ง PwC ยังได้ร่วมลงนามในโครงการรณรงค์ "Business Ambition for 1.5?C - Our Only Future" ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันจำกัดอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593[3]

อุตสาหกรรมพลังงาน กับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

นางสาว อมรรัตน์ กล่าวว่า การตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ทุกอุตสาหกรรมปรับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรและพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และปลดปล่อยของเสียออกมาให้น้อยที่สุด ซึ่งแนวคิดดังกล่าว จะทำให้อุตสาหกรรมพลังงานฯ ต้องเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่ โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับห่วงโซ่คุณค่าขององค์กรตั้งแต่กระบวนการผลิตและการจัดการวัตถุดิบ ไปจนถึงการนำหลักการหมุนเวียนพลังงานและทรัพยากรมาใช้เพื่อหาตลาดและธุรกิจใหม่ ๆ เช่น การผลิตพลังงานไฮโดรเจนด้วยขยะ

รายงาน Taking on tomorrow: The rise of circularity in energy, utilities and resources ของ PwC[4] ได้แนะนำ 6 แนวทางในการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งประกอบไปด้วย (1) การใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น  (2) เพิ่มการรีไซเคิล (3) ลดการสูญเสียทรัพยากร (4) ริเริ่มการเป็นผู้นำระบบการใช้วัตถุดิบและทรัพยากรหมุนเวียน (5) สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการเป็นพันธมิตรห่วงโซ่อุปทาน และ (6) ทบทวนรูปแบบธุรกิจ

นางสาว อมรรัตน์ กล่าวต่อว่า จากการที่ไทยได้เข้าร่วมในความตกลงปารีส[5] และกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 ในสาขาพลังงาน การคมนาคมขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย ยิ่งเป็นการส่งสัญญาณให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจพลังงานของไทย ต้องปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจเพื่อมุ่งไปสู่การใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับผลประกอบการและสร้างความเชื่อมั่นจากลูกค้า คู่ค้า ชุมชน นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่หันมาคำนึงถึงการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) มากขึ้น

นอกจากนี้ การสร้างรายได้จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่ลดลงได้ด้วยการขายคาร์บอนเครดิตให้กับบริษัทอื่น กำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีบริษัทในกลุ่มธุรกิจพลังงานของไทยเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ที่เริ่มขายคาร์บอนเครดิตโดยผ่านนายหน้า และสามารถสร้างรายได้กลับคืนมาสู่ธุรกิจได้ถึงปีละ 10 ล้านบาท ซึ่งหากผนวกแนวทางนี้ เข้ากับการปรับเปลี่ยนไปสู่พลังงานหมุนเวียนก็จะยิ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถเพิ่มคุณค่าให้กับการดำเนินงานและหาช่องทางทำรายได้ใหม่ ๆ ได้อีกทางหนึ่ง นางสาว อมรรัตน์ กล่าว

"ธุรกิจพลังงานควรกลับมาทบทวนโครงสร้างธุรกิจ และโครงสร้างต้นทุนอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น รวมถึงพิจารณาด้วยว่า จะสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างไร ผู้ประกอบการควรใช้บทเรียนจากวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสในการหาแนวทางในการทำธุรกิจให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพื่อสร้างความยั่งยืนและขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว" นางสาว อมรรัตน์ กล่าว

[1] The race to zero emissions, and why the world depends on it, องค์การสหประชาชาติ

[2] A European Green Deal, คณะกรรมาธิการยุโรป

[3] Business Leaders Taking Action, United Nations Global Impact

[4] Taking on tomorrow: The rise of circularity in energy, utilities and resources, PwC

[5] ความตกลงปารีส: ก้าวสำคัญของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ