“ทีเค ปาร์ค ระดมสมองคนดนตรี จัดทำห้องสมุดคลังความรู้ดนตรี เพื่อเยาวชน”

ข่าวทั่วไป Thursday August 25, 2005 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
อุทยานการเรียนรู้ หรือทีเค ปาร์ค จัดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการห้องสมุดดนตรีครั้งที่ 1 เพื่อระดมความคิดและข้อมูลทางดนตรีจากเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิที่มากด้วยประสบการณ์และความสามารถ เป็นที่ยอมรับนับถือในแวดวงดนตรีของเมืองไทย ร่วมกันจัดทำโครงการห้องสมุดคลังความรู้ดนตรีเพื่อเยาวชน โดยมี ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้เป็นประธานการประชุมและชี้แจงรายละเอียดของโครงการห้องสมุดคลังความรู้ดนตรีแก่ผู้เข้าร่วมประชุม ณ อุทยานการเรียนรู้ ชั้น 6 เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า โดยมีนักวิชาการจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและ เอกชน นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง นักเขียน นักวิจารณ์เพลง เช่น วินัย พันธุรักษ์, เศรษฐา ศิระฉายา,นคร เวชสุภาพร, อ.วิรัช อยู่ถาวร, ชนก สาคริก, อติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์, เจนภพ จบกระบวนวรรณ, อ.อนันท์ นาคคง, ทิวา สาระจูฑะ, มาโนช พุฒตาล, สาลินี ปันยารชุน, ยุทธนา บุญอ้อม, สมเกียรติ อริยชัยพานิช, อัษฏาวุธ สาคริก และหลากหลายบุคคลดนตรี ที่ได้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งในวงการดนตรีเมืองไทย
ดร. สิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้กล่าวว่า “โครงการห้องสมุดคลังสมองดนตรีของทีเค ปาร์ค เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสร้างสรรค์ทางดนตรีที่จะช่วยปลุกความมีชีวิต ให้กับห้องสมุดของทีเค ปาร์ค ที่กำลังจะย้ายไปอยู่บนชั้น 8 อาคารสำนักงานใหม่เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า ซึ่งมีพื้นที่กว้างกว่า 4,000 ตารางเมตร พร้อมเปิดให้บริการราวต้นเดือน มีนาคม 2549นี้ ส่วนแรงบันดาลใจในการจัดทำห้องสมุดดนตรีเกิดจากการสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนที่มาใช้บริการ ซึ่งพบว่า กิจกรรมที่เยาวชนส่วนใหญ่ชื่นชอบและประทับใจมากที่สุดได้แก่ กิจกรรมการแสดงดนตรีของวงดนตรีจากโรงเรียนต่างๆและเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีความสามารถได้มาแสดงออก ทีเค ปาร์ค จึงคิดที่จะรวบรวมองค์ความรู้ที่หลากหลายทางดนตรีทั้งไทยและสากล นำมาจัดเรียบเรียงให้มีความน่าสนใจและถูกต้องเหมาะสม บรรจุลงในเว็ปไซต์ของทีเค ปาร์ค เพื่อให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใช้เป็นแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมด้านดนตรีในหลายมิติ มีทั้งเรื่องราวประวัติความเป็นมาของดนตรี และศิลปิน อย่างสมบูรณ์แบบทั้งภาพ และเสียง โดยจะแบ่งประเภทของดนตรีออกเป็นยุคสมัยต่างๆ เช่นเพลงสากล คลาสลิค ป๊อป แจ๊ส ฯลฯ ส่วนเพลงไทยจะเริ่มตั้งแต่เพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่ง เพลงสากล ตลอดจนบุคคลสำคัญต่อประวัติศาสตร์ทางดนตรี ครูเพลง ศิลปิน และเครื่องดนตรี ในแต่ละท้องถิ่น เช่น เหนือ ใต้ กลาง อีสาน จากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยข้อมูลอ้างอิงต่างๆ จากเหล่าศิลปิน นักแต่งเพลง ผู้รู้ และผู้สร้างประวัติศาสตร์ในวงการดนตรี ตลอดจนทายาทของศิลปินและบรมครูเพลงที่ล่วงลับ อย่างทายาทหลวงประดิษฐ์ไพเราะ และทายาทครูเอื้อ สุนทรสนาน โดยคาดหวังว่า ห้องสมุดดนตรีที่กำลังจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในเร็ววันนี้ จะทำให้เด็กไทยมีสื่อการเรียนรู้ด้านดนตรีที่ตื่นตาตื่นใจ ซึ่งช่วยจุดประกายให้เยาวชนไทยเกิดความอยากรู้ และต้องการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมให้ลึกซื้งและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น”
หลากหลายความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงดนตรีบ้านเรา
ทิวา สาระจูฑะ ทีมผู้ให้ข้อมูลด้านดนตรี กล่าวว่า “เพลงไทยสะท้อนภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนแต่ละยุคสมัย แต่ดนตรีไทยเก็บยากมากที่สุด เพราะคนไทยไม่ค่อยมีการบันทึกเรื่องราวความเป็นมา จึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ในประวัติศาสตร์แต่ละช่วง ช่วยกันตรวจสอบข้อมูล เพื่อแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง”
อ.วิชัย อึ้งอัมพร กล่าวว่า “นอกจากวงร่วมสมัยแล้ว วงดนตรีเก่าๆที่เป็นประวัติศาสตร์ อย่างวงประสานมิตร และอีกหลายวงน่าจะหาข้อมูลได้จากครูพยงค์ มุกดา ครูชาลี อินทรวิจิตร เป็นต้น แต่ถ้าจะช่วยส่งเสริมกันจริงๆ อยากให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ช่วยให้เครื่องดนตรีราคาถูกลงกว่านี้ เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนไทย”
ชนก สาคริก รองเลขาธิการมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ กล่าวว่า “การตั้งห้องสมุดดนตรีเป็นสิ่งดี แต่ต้องใช้ยุทธศาสตร์เกลือกับน้ำ โดยเอาสื่อสมัยใหม่ที่รุกล้ำและเอาความเป็นไทยแพร่ลงไป สากลก็จะได้เรียนรู้เอกลักษณ์ความเป็นไทยด้วย ทางมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะได้จัดทำทะเบียนลิขสิทธิ์ดนตรีไทยเดิมเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้วถึง 1805 เพลงใช้เวลาค้นคว้านานกว่า 10 ปี จัดอยู่ใน หมวด ท 2 สามารถขอรับรายละเอียด CD รหัส และหนังสือคู่มือได้จากทบวงมหาวิทยาลัย โดยพร้อมจะทูลเกล้าถวายในเร็วๆ นี้ การรวบรวมข้อมูลขึ้นเว็ปไซต์จำเป็นต้องมี ID Card จะได้ไม่สับสน และซ้ำซ้อน เพราะวัฒนธรรมดนตรีมีการเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆจึงต้องอ้างอิงบนรหัสที่ถูกต้อง แต่สิ่งสำคัญคือปัจจุบันเด็กไทยรับสื่อต่างๆ ได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ควรระมัดระวังในการนำเสนอและควบคุมแรงดึงเหล่านี้ไว้ให้ดี และต้องอนุรักษ์ความเป็นไทยให้คงอยู่ ”
เจนภพ จบกระบวนวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเพลงลูกทุ่ง กล่าวว่า “เป็นนิมิตรหมายที่ดี การจัดทำห้องสมุดดนตรีควรทำมาตั้งนานแล้ว ต้องมีการเริ่มต้น อย่าเริ่มต้นที่เดียว ต้องมีการกระจายความรู้ไปในทุกภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เยาวชนมีความรู้อย่างทั่วถึงและมีความรู้อยู่ในระนาบเดียวกัน การศึกษาเกี่ยวกับดนตรีมีมากและงานศิลปะด้านนี้มีประโยชน์มากต้องรวบรวมข้อมูลให้ได้มากๆ อย่าเพิ่งมาคิดว่าถูกหรือผิดเพราะศิลปะไม่มีถูกหรือผิด”
อติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์ เจ้าของและผู้จัดการวงดนตรีสุนทราภรณ์และโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงห้องสมุดดนตรีของอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ว่า “รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่เยาวชนไทยจะได้มีแหล่งรวบรวมข้อมูลดนตรีไว้สำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม ว่ารากเหง้าของดนตรีไทยมีอิทธิพลมาจากไหน สำหรับวงสุนทราภรณ์ได้มีการรวบรวมข้อมูลและจัดทำห้องโสตทัศนวัสดุ สุนทราภรณ์ ที่หอสมุดแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 แล้ว โดยห้องโสตทัศนวัสุดสุนทราภรณ์ จะมีข้อมูลต่างๆ ของวง ทั้งหนังสือ แผ่นบันทึกเสียงและวีดีโอต่างๆ ไว้ สามารถยืมรับชมและรับฟังได้ทันที อยากให้ห้องสมุดดนตรีขยายไปตามจังหวัดต่างๆ ด้วย เพื่อกระจายความรู้ด้านดนตรีนี้ให้กับเยาวชนไทยได้อย่างทั่วถึงกันในรูปแบบอินเตอร์เน็ต และอยากให้มีข้อมูลของเพลงไทยเดิม ลูกทุ่ง ไทยสากล มากกว่าของต่างประเทศ เพื่อเยาวชนไทยจะได้ตระหนักถึงคุณค่าของเพลงไทย”
นคร เวชสุภาพร กล่าวว่า “ดีใจที่มีผู้เสียสละ ทำโครงการนี้อยากเป็นกำลังใจให้เพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและเยาวชนจะได้มีสื่อการเรียนรู้ด้านดนตรี กระตุ้นให้เกิดการแสวงหาและแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ สำหรับเยาวชนที่มีพรสวรรค์ก็จะเป็นแนวทางให้เขาพัฒนาความสามารถต่อไปได้อย่างเต็มที่ แต่สำหรับผู้ที่มีพรแสวงก็จะช่วยให้เกิดไอเดียในการทำงานด้านดนตรีแนวใหม่ที่มีเอกลักษ์ต่อไป”
อนันต์ นาคคง อาจารย์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยลัยมหิดล กล่าวว่า “เมื่อแล้วเสร็จห้องสมุดดนตรีของทีเค ปาร์ค จะเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่เชื่อมโยงการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ให้เด็กได้เห็นและรับรู้ในสิ่งเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ในภาคไหนๆของประเทศ อุปสรรคในการทำงานคือ บ้านเราไม่ค่อยมีบันทึกหรือรวบรวมหลักฐานทางวัฒนธรรมเอาไว้อย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร การเล่าเรื่องให้เด็กฟังจึงควรมีการกรองและนำเสนอให้น่าสนใจ เพื่อกระตุ้นให้เด็ก มีนิสัยรักการอ่าน คิดค้น และแสวงหาความรู้อย่างไม่รู้จบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้ายทายพอสมควร”
อัษฏาวุธ สาคริก ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ปรมาจารย์ดนตรีไทย ซึ่งได้รับการ ยกย่องเป็น มหาดุริยกวีลุ่มน้ำเจ้าพระยาแห่งอุษาคเณย์ กล่าวว่า “ห้องสมุดดนตรีของ ทีเค ปาร์ค ช่วยให้เด็กประหยัดเวลาในการค้นคว้าหาข้อมูล เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบัน เรื่องของดนตรี อ่านอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยการสัมผัสเรียนรู้ด้วยตนเองจากเครื่องดนตรีจริง ห้องสมุดดนตรีของ ทีเค ปาร์คจึงเป็นการเปิดประตูออกสู่โลกแห่งการเรียนรู้นอกตำราเรียน โดยการเอาความรู้เหล่านี้กลับมาเป็นทางเลือกใหม่ในการเรียนรู้ให้กับเยาวชน ”
ขุนทอง อสุนี ณ อยุธยา นักวิจารณ์ชื่อดัง ได้กล่าวถึงห้องสมุดดนตรีว่า “เป็นไอเดียที่ดีมาก ถึงเวลาที่ควรจะรวบรวมการพัฒนาการของดนตรีได้แล้ว จะได้มีการแบ่งยุคของดนตรีได้ถูกซึ่งจะสามารถเรียงลำดับได้ เพราะวัฒนธรรมดนตรีไทยได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ เช่น เพลงลาวดวงเดือน เขมรไทรโยค ซึ่งเป็นการผสมผสานวัฒนธรรม เด็กควรจะได้รับรู้ในส่วนนี้และจะสามารถแยกแยะได้ว่าเป็นเพลงของประเทศใด ประเภทไหน เพราะปัจจุบันเด็กรู้จักแต่เพลงฮิปฮอปหรือเพลงแด๊นซ์อย่างเดียว เมื่อเด็กรู้และสามารถเปรียบเทียบยุคสมัยของดนตรีได้ก็จะรู้พัฒนาการของดนตรี เช่นฝรั่งมี แฟร้งค์ ซินาตร้า ประเทศของเราก็มี สุเทพ วงศ์กำแหง หรือฝรั่งมี วงเดอะ บีทเทิ้ลส์ เราก็มี วงชาตรี หรือ ดิ อิมพอสสิเบิ้ล สำหรับส่วนที่จะให้ข้อมูลเป็นเรื่องของอิทธิพลดนตรีสากลที่เข้ามาในประเทศไทยในช่วงยุค 60’s และ 70’s ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการดนตรีแสดงให้เห็นถึงการวิวัฒนาการของดนตรีจากร้องเพลงเดี่ยวมาเป็นวง จนถึงเปลี่ยนเป็นร็อค แอนด์ โรลล์ และอธิบายว่าดนตรีแต่ละแนวแทรกซึมเข้ามาในแวดวงดนตรีไทยได้อย่างไร”
คำบรรยายภาพ
1 จากซ้าย 1.ประทักษ์ ไฝ่ศุภการ 2.ดร.สิริกร มณีรินทร์ 3.ปริศนา รัตนเกื้อกูล 4. สุธี แสงเสรีชน
2 จากซ้าย 1.วิชัย อื้งอัมพร 2.ภูษิต ไล้ทอง
3 จากซ้าย 1.ทิวา สาระจูฑะ 2.วินิจ เลิศรัตนชัย
4 จากซ้าย 1.เจนภพ จบกระบวนวรรณ 2. อ.อนันท์ นาคคง
5 นคร เวชสุภาพร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด โทร 0-2434-8300
สุจินดา แสงนภา อาภาภรณ์
สามารถคลิกดูภาพได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ