ววจ. เปิดหลักสูตรใหม่ แห่งแรกของเมืองไทย มุ่งผลิต "นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์" เพื่อรองรับความขาดแคลน

ข่าวทั่วไป Monday April 12, 2021 16:57 —ThaiPR.net

ววจ. เปิดหลักสูตรใหม่ แห่งแรกของเมืองไทย   มุ่งผลิต

"คำว่า "นักอัลตราซาวด์" เป็นคำใหม่ในแวดวงของแพทย์ และระบบสาธารณสุข แต่ในต่างประเทศคำว่านักอัลตราซาวด์มีมานานแล้ว อย่างที่ออสเตรเลียมีมาประมาณ 30 กว่าปี ซึ่งการอัลตราซาวด์ถือเป็นการตรวจชนิดหนึ่ง อย่างเช่นตั้งครรภ์เราก็ใช้อัลตราซาวด์ตรวจอายุครรภ์ได้ ตรวจดูว่าเด็กดิ้นดีไหม เห็นแขน เห็นขา เห็นอวัยวะภายใน คนทั่วไปก็จะตรวจช่องท้อง ดูตับ ดูถุงน้ำดี โดยที่ผ่านมาเป็นหน้าที่ของแพทย์ แต่ในต่างประเทศการตรวจต้องใช้เวลานาน จึงพัฒนาให้มีนักอัลตราซาวด์เกิดขึ้น เพื่อลดภาระหน้าที่ของแพทย์ คือแทนที่แพทย์จะต้องทำการถ่ายภาพดูส่วนต่างๆ เอง ก็จะส่งหน้าที่นี้ให้กับนักอัลตราซาวด์ เพราะขั้นตอนนี้ใช้ระยะเวลานาน"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเชษฎ์ สิริพงษ์สกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดหลักสูตรใหม่ผลิต "นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์" ขึ้นมารองรับในสาขาที่ขาดแคลนบุคลากร

คำจำกัดความของ "อัลตราซาวด์ทางการแพทย์"
อัลตราซาวด์ทางการแพทย์ คือ เครื่องตรวจวินิจฉัย โดยการใช้คลื่นเสียงนั่นเอง ส่วนหลักการของเครื่องอัลตราซาวน์ คือเครื่องมือวินิจฉัย ที่ทำให้เราเห็นภาพได้โดยการใช้เครื่องเสียงสะท้อนกลับไปแล้วส่งภาพกลับมา เราใช้คลื่นเสียงที่กลับมาสร้างภาพเป็นภาพขาวดำเพื่อให้เห็นโครงสร้างทางกายวิภาค ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้เป็นเครื่องมือที่ปลอดภัย ตรวจได้ง่ายและรวดเร็ว

อุปสรรคและปัญหาที่ผ่านมา จนมาถึงการจัดตั้งคณะและหลักสูตรเพื่อผลิต "นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์" ขึ้นมาโดยเฉพาะ

สำหรับนักอัลตราซาวด์ที่โรงเรียนเปิดสอน เราผลิตบุคคลากรที่ใช้เครื่องมืออัลตราซาวด์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยโรคและการสร้างภาพ หน้าที่ของนักเรียนที่จบมาก็ต้องสามารถทำการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ในการสร้างภาพและวินิจฉัยเบื้องต้นในโรคต่างๆ ของผู้ป่วยได้ ส่วนผู้ที่จะแปลผลจริงๆ ก็ คือแพทย์ โดยภาพรวมการทำอัลตราซาวด์ใช้เวลานาน ถ้าใช้แพทย์ในการตรวจรักษารวมถึงทำอัลตราซาวด์ผู้ป่วยด้วยตนเองจะใช้เวลามาก ถ้าใช้นักอัลตราซาวด์มาช่วยก็จะทำให้แพทย์ทำงานได้เร็วขึ้น และสามารถดูแลคนไข้ได้มากขึ้น

อัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ถือเป็นสาขาวิชาชีพที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ และถ้ามีมากขึ้นก็จะสามารถช่วยแพทย์ได้มากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแน่นอน โดยปกติความต้องการของนักศึกษาที่จบเป็นบัณฑิตก็ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด แต่ในเรื่องของการทำอัลตราซาวด์ มีความต้องการมากอยู่แล้ว ทำให้บัณฑิตที่จบทางด้านนี้มีความต้องการในระบบสาธารณสุขมากขึ้น

นอกจากนั้นในภาพรวม อัลตราซาวด์เป็นศาสตร์ที่กำลังโตอย่างก้าวกระโดด เพราะเครื่องอัลตราซาวด์ในปัจจุบันมีขนาดเล็กลงและมีราคาที่ถูกลง ทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหรือคนที่ทำงานด้านนี้ยังน้อยอยู่ ส่วนใหญ่จะจำกัดที่แพทย์เฉพาะทางเป็นหลัก จึงคาดการณ์ได้ว่าบัณฑิตที่จบไปเป็นที่ต้องการแน่นอน เนื่องจากมีคนที่ต้องการใช้อัลตราซาวด์มากขึ้น อย่างผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น และศาสตร์ต่างๆ ที่ต้องการใช้อัลตราซาวด์ก็มีมากขึ้น

หลักสูตรและรายละเอียดการเรียนการสอนของ "นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์"
โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ สังกัดอยู่ใน คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นโรงเรียนที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์สายสนับสนุน ซึ่งอาชีพหนึ่งที่ต่างประเทศมีแต่ประเทศไทยยังไม่มี นอกจากนั้นอาชีพนี้ยังช่วยในการบริการสุขภาพที่ดี

สำหรับบทบาทหน้าที่ของ นักอัลตราซาวด์ จะมีด้วยกัน 2 ส่วน ส่วนแรกคือทำการตรวจหารอยโรค ทำการเก็บภาพและการวินิจฉัยภาพ ส่วนที่สองคือการแปลผล ซึ่งส่วนนี้จะทำโดยแพทย์ แต่ที่ผ่านมา ในประเทศไทยแพทย์จะทำหน้าที่นี้ทั้งหมด ทำให้กว่าจะตรวจเสร็จสักคนต้องใช้ระยะเวลานาน ทางคณะฯ จึงอยากให้มีนักอัลตราซาวด์เกิดขึ้นเพื่อลดภาระให้กับแพทย์ ทำให้แพทย์รับคนไข้ได้มากขึ้น ถึงได้จัดตั้งโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมา พร้อมศาสตร์ทางด้านอัลตราซาวด์โดยเฉพาะ อีกวัตถุประสงค์คือ เนื่องจากเครื่องอัลตราซาวด์มีอยู่ทุกที่ ทุกโรงพยาบาลแล้ว อีกทั้งเครื่องตรวจไม่ได้แพง แถมยังไม่มีรังสีด้วย ทำให้สามารถทำการตรวจคนไข้ได้ไม่จำกัดและตรวจได้ในอีกหลายระบบ

ตอนนี้เรา เปิดอยู่ 2 หลักสูตร หลักสูตรแรก คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ชื่อ สาขาวิชาสัทภาพการแพทย์ ชื่อในราชบัณฑิต สัท แปลว่า เสียง ภาพ ก็คือ การสร้างภาพ ดังนั้น สัทภาพการแพทย์ คือ การสร้างภาพด้วยเสียง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการ อัลตราซาวด์ เป็นหลักสูตรที่เรียนเพื่อเป็นอาจารย์ หลักสูตรต้องเรียน 36 หน่วยกิต ใช้เวลาเรียน 2 ปีกับหนึ่งภาคฤดูร้อน ในช่วงหนึ่งปีแรกจะเรียนเรื่องทักษะการอัลตราซาวด์ทั้งหมด ในช่วงปีที่ 2 จะเป็นการทำวิจัยและการทำวิทยานิพนธ์เพื่อขอจบ และอีกหลักสูตรหนึ่งคือ หลักสูตร 1 ปี สำหรับบุคคลที่เรียนเพื่อไปใช้งาน ทำงานบริการในโรงพยาบาลเป็นหลัก และช่วยงานแพทย์ต่างๆ โดยหลักสูตร 1 ปี จะเรียนเรื่องทักษะการอัลตราซาวด์ทั้งหมด

การเรียนการสอนแบบเฉพาะทางของ "นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์" ของ ววจ.
เนื่องจากเรามองภาพรวมทั้งประเทศ จะเห็นได้ว่าโดยรวมแพทย์บ้านเราค่อนข้างขาดแคลน ซึ่งแพทย์ก็จะเรียนด้านนี้เสริมความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาของแพทย์อยู่แล้ว ซึ่งในเมืองนอกไม่ว่าจะเป็นที่ยุโรป ออสเตรเลีย หรือว่าในอเมริกา เขาก็จะเอาคนที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์มาศึกษาต่อทางด้านอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ เพื่อทำงานในส่วนนี้ หรืออาจจะเป็นคนที่เรียนจบทางด้านพยาบาล หรือจบทางสาธารณสุขซึ่งมีองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์มาระดับหนึ่ง ก็มาเรียนต่อทางด้านนี้ และก็ทำงานเกี่ยวกับอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ต่อ

โดยทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มุ่งสร้างมาตรฐานระดับนานาชาติ จึงได้ร่วมมือกับ โมแนสยูนิเวอร์ซิตี้ (Monash University) ซึ่งเป็นสถาบันที่มีหลักสูตรการอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงของออสเตรเลียมาช่วยกันสร้างหลักสูตรร่วมกัน โดยมีเนื้อหาโครงสร้างที่ได้รับการพัฒนาโดยคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจาก โมแนสยูนิเวอร์ซิตี้ ซึ่งจะส่งบุคลากรจะมาสอนอาจารย์เราด้วย ในเรื่องคอนเซปต์และหลักเกณฑ์ในการสอนนักอัลตราซาวด์เป็นผู้เชี่ยวชาญต้องทำอย่างไร นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมภาคสังคม เพื่อฝึกฝนให้กับนักศึกษาได้ฝึกทักษะ เพราะเครื่องอัลตราซาวด์เป็นเครื่องมือที่ต้องใช้ทักษะ ต้องฝึกทำเยอะๆ จึงจะทำได้ดี

โครงการและกิจกรรมภาคสังคมให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติ

กิจกรรมทางภาคสังคม ซึ่งเป็นกิจกรรมของนักศึกษาในช่วงระหว่างเรียน นักศึกษาจะฝึกงานในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ในแผนกอัลตราซาวด์อยู่แล้ว กิจกรรมนอกเหนือจากการให้บริการในโรงพยาบาล เรามีกิจกรรมในการเรียนการสอนให้บุคคลภายนอก เราได้รับทุนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ซึ่งเรามีหน้าที่ผลิตและอบรมให้แพทย์ทั่วไปทำอัลตราซาวด์ได้ดีขึ้น และเพื่อเป็นการเพิ่มความเชี่ยวชาญให้กับแพทย์ เรามีการจัดอบรมระยะสั้นให้กับแพทย์ทั่วประเทศ โดยมีโครงการระยะยาว 5 ปี ผลิตแพทย์ทั่วประเทศที่อยู่ในสังกัดราชการ จำนวน 1,250 คน ซึ่งแพทย์เหล่านี้กระจายอยู่ตามโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัดที่อยู่ห่างไกล สิ่งที่ทำการวินิจฉัยได้ดีมากๆ คือการอัลตราซาวด์ ซึ่งหลักสูตรแพทย์ปกติการเรียนอัลตราซาวด์ยังน้อยอยู่ เราก็จะทำให้แพทย์ได้ฝึกทักษะเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญ เพราะเครื่องอัลตราซาวด์เป็นเครื่องมือที่ต้องใช้ทักษะ ต้องฝึกทำเยอะๆ ถึงจะทำได้ดี

โอกาสในการทำงานหลังสำเร็จการศึกษา
เนื่องจากเป็นสาขาวิชาชีพที่เปิดใหม่ ดังนั้นบัณฑิตที่มาต้องได้งาน 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเข้าทำงานในองค์กรที่เกี่ยวกับระบบสุขภาพได้ อันดับแรกเลยคือโรงพยาบาลต่างๆ ที่ต้องการขยายงานทางด้านอัลตราซาวด์ ซึ่งมีความต้องการนักอัลตราซาวด์อย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น รังสีแพทย์ อยากให้มีคนมาช่วยทำอัลตราซาวด์ เพื่อแพทย์จะได้รับคนไข้ได้มากขึ้น หรือ ถ้าจบปริญญาโท ก็มีโอกาสเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ เพราะโรงเรียนฯ กำลังจะขยายเพื่อผลิตแพทย์ที่จะช่วยงานด้านวิชาการต่างๆ ในโรงเรียนฯ ให้มากขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถทำงานร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนก็ได้ หรือทำงานบริษัทเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะเครื่องอัลตราซาวด์ก็ได้เช่นกัน

สำหรับผู้ที่สนใจเรียนสาขานี้ ต้องมีความรู้ด้านใดบ้าง
เนื่องจากการอัลตราซาวด์ถือเป็นศาสตร์หนึ่งที่ใช้ในการแพทย์ ดังนั้นคนที่จะมาเรียนด้านนี้ต้องมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องใช้ในโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กายวิภาค สรีระวิทยา ต้องมีความรู้ว่าแต่ละอวัยวะทำหน้าที่อะไร แล้วมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และอาจจะต้องช่วยดูแลคนไข้ด้วย ซึ่งส่วนนี้จะอยู่ในการวินิจฉัยและการรักษานั่นเอง รวมถึงต้องเป็นคนที่ขยันหาความรู้ใหม่ๆ เพราะความรู้ทางด้านการแพทย์มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ อยู่เสมอ

ทิศทาง อนาคต ของบัณฑิต หากเรียนจบแล้วสามารถต่อยอดอะไรได้อีก
หากจบ ป.โท มีความก้าวหน้าทางวิชาชีพอย่างมาก เพราะความต้องการตามโรงพยาบาลในประเทศมีความต้องการมาก ด้วยเหตุผลคือคิวการตรวจอัลตราซาวด์ในโรงพยาบาลนั้นยาวมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐบาล ตอนนี้โรงเรียนฯ ของเรากำลังขยาย ถ้าเรียนจบแล้วจะได้บรรจุเป็นอาจารย์ แต่ถ้าไม่ชอบงานวิชาการก็สามารถทำงานบริการในโรงพยาบาลได้ด้วย

ท้ายสุดข้อดีที่มี "นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์" กับเคสที่เกิดขึ้นจริง

ถ้าถามว่านักอัลตราซาวด์มีส่วนร่วมกับการแพทย์อย่างไรบ้าง คือ เกือบทั้งระบบของร่างกายเลย เพราะสามารถตรวจอัลตราซาวด์ ยกเว้นอวัยวะที่มีลมอยู่มักตรวจได้ไม่ดี ซึ่งการอัลตราซาวด์ที่ใช้บ่อยคือแผนก สูติศาสตร์ ส่วนใหญ่ใช้การอัลตราซาวด์เพื่อดูอายุครรภ์ และตรวจดูการแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ บางทีเราเจอภาวะรกเกาะต่ำ คือตั้งครรภ์แล้วรกไปอยู่ใกล้ทางช่องคลอดทำให้คลอดไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้อาจทำให้แม่หรือเด็กเสียชีวิตได้ หรือใช้การตรวจอัลตราซาวด์ในช่องท้อง โดยบ้านเราจะใช้การอัลตราซาวด์ในตรวจหามะเร็งตับซึ่งเกิดมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้ชาย ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก ทั้งนี้การอัลตราซาวด์ในช่องท้องเราสามารถทำได้บ่อย เพราะเป็นระบบเบสิกขั้นต้นที่ต้องทำได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้เรายังสามารถทำอัลตราซาวด์เพื่อหาก้อนมะเร็งเล็กๆ หากรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นคนไข้ก็สามารถผ่าตัดและหายได้ จึงถือได้ว่าเครื่องอัลตราซาวด์เป็นเครื่องมือที่ไม่แพงที่สามารถช่วยชีวิตคนไข้ได้ นอกจากนี้การอัลตราซาวด์ยังสามารถใช้ดูภาวะนิ่วต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นนิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในไตได้ ดูภาวะอุดตันจากนิ่วได้ บางคนไตเสื่อมไตวายจากนิ่ว เพราะชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่เหมือนคนเมือง น้ำที่ใช้บริโภคอาจจะมีส่วนของแร่ธาตุที่ทำให้เกิดนิ่วได้ ถ้าเราเอาจุดนี้ไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลอำเภอ หรือโรงพยาบาลจังหวัด ก็จะทำให้แพทย์ตรวจรักษาได้รวดเร็วมากขึ้น คนไข้ได้รับการรักษาที่ดีขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เราเคยมีโปรเจคต์วิจัยไปตรวจคัดกรองมะเร็ง ที่ จ.น่าน ซึ่งเราได้เคสมาเยอะมาก โดยเราเอาแพทย์ไป แต่พอถึงจุดหนึ่งแพทย์ก็ทำไม่ไหว เพราะประชากรคนไทยที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง ก็ประมาณ 8 ล้านคน เราก็ควรมีบุคลากรด้านนี้ช่วยกันทำมากขึ้น

สำหรับผู้สนใจหลักสูตร สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.pccms.ac.th/ หรือ https://www.facebook.com/SonographerSchool/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ