พลังคนรุ่นใหม่ไร้ขีดจำกัด ทีม BME Ranger 11 นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนานวัตกรรมระบบคัดแยกลูกมะนาว คว้ารางวัล Top Score on Project Management ในหัวข้อ ระบบควบคุมการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing System) จากการแข่งขัน "การประชันทักษะทางด้านระบบสมองกลฝังตัว ชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 15" (TESA Top Gun Rally 2021#15) ซึ่งจัดโดย สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสยาม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
มาคุยกับหนุ่มสาว ทีม BME Ranger 11 ประกอบด้วยสมาชิกในทีม 1 หนุ่ม 4 สาว จากวิศวะมหิดล มี ชัชรินทร์ แสงบุษราคัม, ฉัตรวิภา สุรพัฒน์, ธนัชภรณ์ ลีลายนะ, วริศนันท์ จิรชยานนท์ และอภิสรา มูลจ้อย ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ชัชรินทร์ แสงบุษราคัม หนุ่มหัวหน้าทีม BME Ranger 11 นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "ในแต่ละปี ประเทศไทยมีผลผลิตมะนาวปีละกว่า 130,000 ตัน นับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย เพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการปรุงอาหารและใช้ในชีวิตประจำวันทุกครัวเรือน หากมีเทคโนโลยีมาช่วยผู้ประกอบการเกษตรกรในการคัดแยกมะนาว จะเป็นประโยชน์มาก จึงทำให้ทีมของเราพัฒนานวัตกรรมระบบคัดแยกขนาดลูกมะนาว โดยใช้หลักการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) เป็นตัวคัดแยกมะนาวตามขนาดที่กำหนด ประโยชน์ของนวัตกรรมนี้ ช่วยให้การคัดแยกมะนาวรวดเร็ว แม่นยำขึ้น โดยไม่ต้องใช้แรงงานคนมาคอยนับ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงสามารถจัดเก็บข้อมูลได้เป็นระบบ อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับผลไม้ขนาดเล็กชนิดอื่นหรือสิ่งของแทนได้ด้วย"
ฉัตรวิภา สุรพัฒน์ สาวน้อยในทีม BME Ranger 11 คุยถึง วิธีการทำงานและประโยชน์ของนวัตกรรมระบบคัดแยกขนาดลูกมะนาวนี้ว่า "วิธีการทำงาน ของระบบคัดแยกลูกมะนาว ที่บอร์ดคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (Raspberry Pi) จะมีกล้องติดอยู่ เพื่อส่งภาพให้บอร์ดคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (Raspberry Pi) ประมวลผล โดยการประมวลผลจะใช้การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) ในการตรวจจับลูกมะนาวและขนาด หลังจากนั้นจะส่งข้อมูลของลูกมะนาว เช่น รูป ขนาด เวลาที่พบ ขึ้นบนเซิร์ฟเวอร์แบบเรียลไทม์ หากตรวจจับหากพบมะนาวขนาดเล็กกว่าที่กำหนด บอร์ดคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (Raspberry Pi) จะส่งคำไปที่บอร์ดไมโครคอนโทรเลอร์ เพื่อบอกให้อุปกรณ์ดีดลูกมะนาวที่ไม่ได้มาตรฐานออกจากสายพาน"
วริศนันท์ จิรชยานนท์ อีกหนึ่งสมาชิกในทีมแข่งขันกล่าวว่า "แต่ละคนในทีมจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบหลักๆ ของตัวเองที่ชัดเจน และสามารถมีการสลับสับเปลี่ยนช่วยเหลือกันได้ด้วย เนื้อหาของโจทย์ยากง่ายไม่เท่ากัน ทีมเราจะแยกกันไปศึกษาในส่วนของตัวเองก่อน แล้วกลับมาช่วยกันระดมความคิด ลองระบบกันก่อนแข่งประมาณ 1 อาทิตย์ ซึ่งช่วงโควิดระบาดหนักๆที่ผ่านมาต้องเลื่อนแข่ง ทำให้มีเวลาในการค้นคว้าความรู้เพิ่มผ่านทางอินเตอร์เน็ตและหนังสือ ประสบการณ์จากการแข่งขันครั้งนี้ เราได้ฝึกการทำงานเป็นทีม ความสามัคคีและการแก้ปัญหาในเวลาที่จำกัด ได้ฝึกบริหารจัดการ ฝึกคิด ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่ความล้มเหลวแต่เป็นการเรียนรู้"