ผลสำรวจล่าสุดชี้ความสามารถในการนำองค์กรกลับสู่ภาวะปกติคือกุญแจของความสำเร็จในอนาคต
มากกว่า 80% ของบริษัทในประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมการสำรวจใน Global Crisis Survey 2021 ของ PwC (ฉบับประเทศไทย) ระบุว่า ธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยชี้ว่า ความสามารถในการฟื้นตัวของธุรกิจจะขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติขององค์กร
รายงานผลสำรวจของประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของผลสำรวจทั่วโลก ที่ได้สอบถามความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจจำนวน 2,814 รายใน 73 ประเทศ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจากประเทศไทยจำนวน 52 ราย เกี่ยวกับแนวทาง หรือวิธีการที่บริษัทไทยใช้ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการถอดบทเรียนที่บริษัทต่าง ๆ ได้เรียนรู้จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคต
นาย พันธ์ศักดิ์ เสตเสถียร หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า 84% ของผู้ตอบแบบสอบถามเผยว่า ธุรกิจของพวกเขาได้รับผลกระทบในเชิงลบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยผู้ตอบแบบสอบถามยังระบุว่า การดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากข้อจำกัดด้านการขนส่ง ที่ทำให้การนำเข้าหยุดชะงักและการผลิตชะลอตัวลง นอกจากนั้น ข้อจำกัดถัดมาคือปัญหาเกี่ยวกับพนักงาน และสภาพคล่องทางการเงิน
อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสอบถามได้มีการปรับกระบวนการทำงานและการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อใช้รับมือกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก รวมถึง การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ การชะลอการลงทุนเพื่อจัดการสภาพคล่อง และการพัฒนาปรับปรุงระบบงานต่างๆให้พนักงานสามารถทำงานนอกสถานที่ได้ อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ได้สร้างความท้าทายรูปแบบใหม่ให้กับผู้นำธุรกิจของไทย
นาย พันธ์ศักดิ์ ได้ให้มุมมองในเรื่องดังกล่าวว่า"หากขาดการดูแลติดตามระบบการทำงานจากระยะไกลที่เพียงพอ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของระบบได้ โดยผู้ไม่หวังดีสามารถสวมรอยเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ โดยหลอกล่อให้โอนข้อมูลที่มีความอ่อนไหวได้ ดังนั้น แม้องค์กรต่าง ๆ จะมีการบังคับใช้นโยบายการทำงานจากระยะไกลได้อย่างราบรื่นในช่วงที่ผ่านมา แต่อาจมีความเสี่ยง จากการโจรกรรมและละเมิดข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ ในระดับสูง ซึ่งหากผู้ไม่หวังดีได้ข้อมูลที่สำคัญไป จะทำให้พวกเขาสามารถฉ้อโกง สร้างความเสียหายให้กับระบบสารสนเทศ ทำลายชื่อเสียง ตลอดจนการกระทำอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย และส่งผลให้องค์กรสูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล"
ทีมรับมือกับภาวะวิกฤต คือกุญแจสำคัญ
ผลการสำรวจ ยังพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีการวางแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business continuity plan: BCP) ก่อนเกิดการระบาดของโควิด - 19 แต่มีเพียง 31% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้น ที่มีการจัดเตรียมทีมรับมือกับภาวะวิกฤตไว้ล่วงหน้า
นาย พันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ประสิทธิภาพของแผน BCP จะตกอยู่ในความเสี่ยง หากไม่มีทีมรับมือกับภาวะวิกฤตที่ทำหน้าที่ดูแลการดำเนินงานโดยรวมในช่วงเกิดวิกฤตการณ์
"การมีทีมรับมือกับภาวะวิกฤตที่มีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้องค์กรจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เพราะในช่วงวิกฤตนี้ หากเกิดความบกพร่องหรือข้อผิดพลาดในการรับมือกับวิกฤตเพียงครั้งเดียว อาจสร้างความไม่ไว้วางใจแก่ผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้เสียเป็นวงกว้าง"
นอกจากนี้ จุดมุ่งหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของผลสำรวจนี้คือ เพื่อสำรวจว่าบริษัทต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับภัยคุกคามและผลกระทบในระยะยาวของโควิด-19 ต่อกลยุทธ์ขององค์กรหรือไม่ โดยผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยส่วนใหญ่ ระบุว่า พวกเขายังไม่ได้มีการประเมินผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น หรือถอดบทเรียนจากวิกฤตที่ได้รับ
"การถอดบทเรียนจากวิกฤตที่เกิดขึ้น จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับปรุงแผนการรับมือและจัดการกับวิกฤตในครั้งต่อไปได้ดียิ่งขึ้น"
"องค์กรที่มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตในอนาคต ควรตั้งคำถามว่า สิ่งใดบ้างที่จำเป็นและช่วยให้องค์กรเตรียมรับมือกับภาวะหยุดชะงักครั้งต่อไปให้ดีขึ้น โดยองค์กรต่าง ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องมีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการ และรับมือกับภาวะวิกฤตเพื่อการฟื้นคืนสู่ภาวะปกติขององค์กร นั่นหมายความว่า องค์กรจะต้องมีความสามารถในการปรับตัวและพัฒนากระบวนการที่จำเป็นเพื่อรับมือกับวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กลับมาแข็งแกร่งยิ่งขึ้น" เขากล่าว
เหนือสิ่งอื่นใด ความท้าทายในการจัดการกับวิกฤต ไม่ได้อยู่ที่การคาดการณ์หรือประมาณเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โดยองค์กรต่าง ๆ ควรตระหนักว่า แม้ภาวะหยุดชะงักจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาหรือหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถเตรียมการเพื่อรับมือกับมันได้ ธุรกิจที่ให้ความสำคัญและลงทุนในการสร้างรากฐานเพื่อฟื้นคืนสู่สภาวะปกติและรับมือกับภาวะหยุดชะงัก จะสามารถต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น นาย พันธ์ศักดิ์ กล่าว