บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จับมือภาคีเครือข่ายองค์กรชั้นนำ ขับเคลื่อนโครงการ "Circular Meal?มื้อนี้เปลี่ยนโลก" ส่งมอบอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนและด้อยโอกาส ลดการสูญเสียอาหารและจัดการอาหารส่วนเกิน พร้อมสร้างสรรค์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ตอกย้ำความมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด พร้อมกันนี้ บริษัทฯได้กำหนดนโยบายการจัดการอาหารสูญเสียและขยะอาหาร ส่งเสริมการลดการสูญเสียอาหาร อาหารส่วนเกิน และขยะอาหาร ตั้งแต่ต้นทางการผลิต ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตอาหาร สนับสนุนการนำอาหารส่วนเกินสู่การสร้างโภชนาการที่ดีให้แก่สังคม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ซีพีเอฟ ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายองค์กรชั้นนำ นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้กับโครงการ "Circular Meal?มื้อนี้เปลี่ยนโลก" เน้นลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้หลักการ Reduce - Recharge - Reborn ประกอบด้วย Reduce เป็นการลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) และการเกิดขยะอาหาร (Food Waste) ReCharge ร่วมเติมพลังงานชีวิต แก่ผู้ที่ขาดแคลนให้สู้ต่อไป ด้วยมื้ออาหารปลอดภัย สด สะอาด จากกระบวนการจัดการอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) อย่างถูกหลักอนามัยและสู่การปรุงตามหลักโภชนาการที่เหมาะสม จนได้มื้ออาหารคุณภาพสำหรับทุกคน (Food Security for ALL) และ ReBorn คือ ร่วมสร้างชีวิตใหม่ ทั้งคนและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ เพื่อเติมความสมดุลแก่ระบบนิเวศตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมทั้งยกระดับสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบอาหารที่ยั่งยืน (Food System Transformation) ตามเป้าหมาย Zero Food Waste to landfill ภายในปี 2030 สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ข้อที่ 2 คือ การขจัดความหิวโหย ข้อที่ 12 คือ การส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน และข้อที่ 17 คือ การสร้างความร่วมมือระดับสากลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โครงการ "Circular Meal?มื้อนี้เปลี่ยนโลก" มีเป้าหมายส่งมอบอาหารจากการบริหาร Food Surplus เพื่อส่งเสริมโภชนาการที่ดีพร้อมกับกระบวนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์อย่างมีความรับผิดชอบ (Take back system) ครบวงจร โดยตลอดปี 2564 จะนำร่องโครงการด้วยการส่งมอบอาหารทั้งหมด 10,000 ชุด ให้กับผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนอาหารในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกิจกรรมแรกที่เข้าสนับสนุน คือ โครงการ Education for the Deaf (EDeaf) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษาและสร้างทักษะในการประกอบอาชีพให้แก่ผู้พิการทางการได้ยิน ให้มีโอกาสทางการศึกษาและประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ในอนาคต โดยได้จัดกิจกรรมส่งมอบอาหารครั้งแรกในเดือนเมษายน ให้กับผู้พิการทางการได้ยิน จำนวน 400 ชุด พร้อมทั้งเตรียมประกาศความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอย่างเป็นทางการ ในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้
"การผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายชั้นนำครั้งนี้ เป็นการนำศักยภาพของแต่ละองค์กรมาร่วมสร้างระบบนิเวศ ช่วยรักษาและใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ตลอดจนร่วมลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตและพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์แบบครบวงจร (Closing the loop ecosystem) เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด" นายวุฒิชัย กล่าว
นายวุฒิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก เป็นการบริหารจัดการแบบองค์รวม ตั้งแต่ต้นทางวัตถุดิบจนถึงปลายทางผู้บริโภค โดยส่งเสริมให้ผู้ที่ได้รับอาหารและชุมชนมีส่วนร่วมในการเก็บบรรจุภัณฑ์อาหารทั้งหมด เพื่อนำไปส่งต่อให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง นำไปรีไซเคิลและการสร้างประโยชน์ใหม่ (Upcycling) และที่สามารถย่อยสลายได้ อย่างเหมาะสมตามเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางอาหาร
สำหรับภาคีองค์กรที่ร่วมโครงการ Circular Meal?มื้อนี้เปลี่ยนโลก ประกอบด้วย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน), บริษัทสยาม แม็คโคร จำกัด (มหาชน), บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด (ข้าวตราฉัตร) , มูลนิธิสโกลาร์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) , วิสาหกิจชุมชน ซับรวงไทร , Wastegetable และ GEPP Sa-Ard (เก็บ สะอาด) ซึ่งหลังจากนี้ ภาคีเครือข่ายและพันธมิตรจะร่วมกันจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง./