ITP กับความสำเร็จบริการงานแปลด้วย AI โดยฝีมือทีมนักพัฒนาไทย

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday May 5, 2021 13:38 —ThaiPR.net

ITP กับความสำเร็จบริการงานแปลด้วย AI โดยฝีมือทีมนักพัฒนาไทย

บริษัท อิชิดะ ไทเซอิชะ (ประเทศไทย) จำกัด (ITP) ผู้ให้บริการงานแปลด้วยประสบการณ์งานแปลกว่า 160 ล้านคำ ครอบคลุมพื้นที่ตลาดทั้งในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศความสำเร็จของทีมนักพัฒนาชาวไทย ด้วยบริการ AI Translation ภาษาไทย โดยคุณธารทิพย์ มาพิบูลธัญชาติ GM สาวคนเก่งให้เกียรติมาพูดคุยและอธิบายถึงการทำงานกันในวันนี้ 

แนะนำธุรกิจของทางบริษัทกันก่อน

"Ishida Taiseisha (Thailand) Co., Ltd. โดยประธานบริษัทคนปัจจุบัน Mr. Yoshikazu Koyama ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยปีพ.ศ. 2542 ประกอบธุรกิจมาเป็นเวลา 22 ปี ปัจจุบันให้บริการจัดทำข้อมูลแบบครบวงจรสำหรับทุกมีเดีย ทั้งบริการงานแปล พัฒนาเว็บไซต์ เว็บแอพพลิเคชั่น สมาร์ทโฟนแอพพลิเคชั่น การตลาดออนไลน์และออฟไลน์ (O2O) บริการด้านสิ่งพิมพ์ และอื่นๆ บริษัทเราให้บริการลูกค้าทั้งครอบคลุมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมี ITP INC. (ชื่อเดิม Ishida Taiseisha) เป็นบริษัทแม่ของเรา ITP INC. ดำเนินธุรกิจมากว่า 105 ปี คือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2459 ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงแรกเริ่มก่อตั้ง บริษัทให้บริการงานพิมพ์เพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันให้บริการด้านการทำข้อมูลที่หลากหลาย เช่น บริการดีไซน์ บริการ Editing บริการด้านดิจิตอล บริการแปล และบริการด้านงานส่งเสริมการขายค่ะ "

บริการงานแปลของITP รองรับงานแปลภาษาอะไรบ้าง?

"เราให้บริการแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยเป็นหลัก แต่มีบริการแปลภาษาอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทแม่ของเรา ITP INC. มีบริษัทในเครือกระจายอยู่ทั่วโลก จึงสามารถรองรับการแปลภาษาต่างประเทศได้หลากหลาย และ Ishida Taiseisha (Thailand) Co., Ltd. รับผิดชอบดูแลกลุ่มลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง

เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ จึงมีบริษัทผู้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก งานแปลภาษาไทยที่บริษัทเราให้บริการอยู่ส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับธุรกิจยานยนต์ และช่วงไม่กี่ปีมานี้เราได้จัดตั้งบริษัทลูก ITP Myanmar ขึ้นในประเทศพม่า ทำให้มีงานแปลภาษาพม่าเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ เรายังให้บริการงานแปลภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาเวียดนาม ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาลาว ภาษามาเลย์ ฯลฯ อีกด้วย"

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในประเทศจะมีความต้องการแปลเกี่ยวกับธุรกิจยานยนต์จำนวนมาก ในส่วนของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความต้องการแปลงานชนิดใดบ้าง?

"อันที่จริงเอกสารที่ลูกค้าต้องการแปลมีค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเอกสารสำหรับยื่นรัฐบาล เอกสารสัญญา เอกสารด้านเทคนิค แคตตาลอค เว็บไซต์ ข้อมูลด้านมาร์เก็ตติ้ง เอกสารการฝึกอบรม ฯลฯ แต่โดยส่วนใหญ่บริษัทเราให้บริการแปลเอกสารด้านเทคนิคสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นบริษัทญี่ปุ่นค่อนข้างมาก เช่น คู่มือการใช้ คู่มือการฝึกอบรมภายในบริษัท สิทธิบัตร เอกสารด้านการประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นงานแปลที่มีปริมาณมาก หลายพันหน้า A4"

การแปลเอกสารหลายพันหน้าแบบนี้ คงต้องใช้นักแปลและใช้เวลามาก โดยทั่วไปแล้วต้องใช้เวลาแปลประมาณไหน?

"ถ้ายกตัวอย่าง คู่มือการใช้รถยนต์และคู่มือซ่อมรถยนต์ โดยปกติแล้วจะมีปริมาณค่อนข้างมาก คู่มือการใช้รถยนต์จะมีปริมาณคำแปลกว่า 1 แสนคำต่อเล่ม ส่วนคู่มือซ่อมก็มีปริมาณมากกว่า 2 ล้านคำต่อหนึ่งโมเดล ปริมาณงานแปลขนาดนี้ ถ้าเราใช้คนแปลทั้งหมด มันเป็นการยากที่จะทำงานได้ตามงบประมาณและกำหนดเวลาส่งงานที่ลูกค้ากำหนด และเป็นการยากที่จะควบคุมคุณภาพงานด้วย

ดังนั้นเราจึงต้องใช้เครื่องมือ (tools) ต่างๆ เข้ามาช่วยและมีการสร้างฐานข้อมูลคำแปลที่มีความสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ข้อมูลที่เราเคยแปลไปแล้วในอดีต เราสามารถเก็บไว้ในฐานข้อมูล และสามารถเรียกใช้ข้อมูลเหล่านั้นได้อีก เมื่อมีการแปลโมเดลใหม่ ทำให้นักแปลไม่จำเป็นต้องแปลประโยคที่เคยแปลไปแล้วใหม่อีก

การแปลเอกสารกว่าพันหน้า เราจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ที่กำลังจะแปลด้วยเครื่องมือที่ว่านี้ เพื่อค้นหาส่วนที่เหมือนหรือคล้ายกับข้อมูลที่เรามีในฐานข้อมูล และจำกัดขอบเขตข้อมูลใหม่ที่ยังไม่เคยแปลออกมาเพื่อให้นักแปลดำเนินการแปล ด้วยวิธีการนี้ ทำให้เราสามารถลดเวลาและต้นทุนในการแปลลงได้"

การจำกัดขอบเขตการทำงานสำหรับนักแปลนี้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากน้อยเพียงใด?

"โดยส่วนใหญ่ลูกค้าจะเริ่มสั่งแปลเอกสาร เมื่อสินค้าใกล้จะเริ่มออกวางขาย อย่างคู่มือการใช้งานหรือเอกสารประชาสัมพันธ์สินค้า โดยปกติมักมีเวลาในการทำเอกสารมากที่สุดไม่เกิน 3 เดือน ประโยชน์ของการแปลแบบใช้ฐานข้อมูล คือช่วยให้เราสามารถลดเวลาการผลิตข้อมูลลงได้มาก เช่น การแปลคู่มือ เราสามารถลดเวลาทำงานลงเหลือประมาณ 1 เดือนเท่านั้น

เมื่อผลิตสินค้าเสร็จ ลูกค้าทุกรายก็ต้องการที่จะปล่อยสินค้าของตนออกสู่ตลาดให้เร็วที่สุด และโดยทั่วไปแล้วลูกค้าจะให้เวลาที่จำกัดสำหรับการทำงานแปล และเรามักจะไม่มีเวลามากพอที่จะแปลคู่มือ ภายใต้ข้อจำกัดด้านเวลา หากเราจำกัดขอบเขตที่จำเป็นต้องทำงานได้ด้วย AI  นักแปลก็สามารถโฟกัสกับการแปลงานภายใต้เวลาที่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้เราสามารถส่งงานได้ทันเวลาที่ลูกค้ากำหนด

ด้านคุณภาพก็เช่นกัน หากเราสามารถนำคำแปลที่เคยแปลแล้วในฐานข้อมูลมาใช้ได้ เราก็สามารถรักษาความเป็นเอกภาพระหว่างงานแปลในอดีตกับงานแปลปัจจุบันได้ ไม่ว่านักแปลจะมีประสบการณ์มากเท่าไร ความเหนื่อยล้าจากการแปลงานหลายๆ พันหน้าอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพการแปลได้ แม้ไม่แปลผิด แต่สำนวนการแปลอาจไม่เสถียรหรือคุณภาพการแปลอาจด้อยลงได้ ดังนั้นการนำ AI มาช่วยงานจึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สามารถรักษาและเพิ่มคุณภาพงานแปลได้

เราเรียกการทำงานลักษณะนี้ว่า การร่วมมือกันทำงานของนักแปลและ AI"

อธิบายถึง AI Translation หรือเทคโนโลยีการแปลด้วย AI กันหน่อย

"หากจะอธิบายง่ายๆ คือ การนำ AI มาเสริมการทำงานของคน หรือก็คือการนำ AI มาช่วยทำงานในส่วนที่เราเคยใช้คนทำเพียงอย่างเดียว มันคือการทำงานร่วมกันระหว่างคนกับ AI เทคโนโลยีการแปลด้วย AI ของเราไม่ใช่การใช้ AI แปลแทนที่คนทั้งหมด แต่คือการนำ AI ซึ่งได้ผ่านการเทรนด้วย Machine Learning มาทำงานร่วมกับคน"

รูปแบบความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างคนกับ AI

"AI แม้จะมีความสามารถสูง แต่ความฉลาดของ AI ก็ยังต้องพึ่งความฉลาดของคนอยู่ในบางส่วน ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างนักแปลและ AI จึงเป็นลักษณะรุ่นพี่-รุ่นน้อง โดยนักแปลคือรุ่นพี่ และ AI คือรุ่นน้อง สำหรับงานแปลที่ต้องการความสละสลวยและละเมียดละไม อย่างไรเสียในปัจจุบัน AI ก็ยังไม่สามารถทำได้ดีกว่าคน และตอนนี้เราก็ไม่ได้คาดหวังว่า AI จะต้องทำได้ถึงระดับนั้น แต่เรามีความคิดว่านักแปลมีหน้าที่ฝึก AI ซึ่งเป็นเสมือนพาร์ทเนอร์ให้สามารถแปลงานได้ใกล้เคียงคนมากที่สุด ผ่าน Machine Learning โดยที่คนจำเป็นต้องเข้าใจการทำงานของ AI อย่างลึกซึ้งและคิดค้นวิธีการต่างๆ ที่จะฝึก AI ให้แปลงานออกมาได้อย่างมีคุณภาพสูงสุด

และเมื่อ AI ที่เราฝึกด้วย Machine Learning มีความสามารถมากขึ้น ก็จะสามารถช่วยงานนักแปลได้ดีขึ้น ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เดิมการแปลงาน 1 ชิ้นจำเป็นต้องใช้นักแปล 2 คนในการทำงาน 2 ขั้นตอนคือแปลและตรวจสอบงานแปล แต่การนำ AI มาทำงานคู่กับนักแปล ทำให้เราสามารถลดนักแปลลงได้ 1 คน และนักแปล 2 คนที่เคยต้องแปลงานเดียว ก็สามารถแยกกันไปทำงานคนละงานได้ในเวลาเดียวกัน เท่ากับว่าการนำ AI มาใช้ ช่วยลดปริมาณงานของนักแปลลงได้ครึ่งหนึ่งและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น

ในด้านคุณภาพก็เช่นกัน การร่วมกันแปลงานระหว่าง AI และคนก่อนส่งไปยังขั้นตอนถัดไป ยังช่วยยกระดับการควบคุมคุณภาพงานแปล และส่งผลให้งานแปลมีประสิทธิผลที่ดี"

การแปลงาน ก็คือการผลิตที่ต้อง"ควบคุมคุณภาพ" และ "ประสิทธิภาพการผลิต" 

"ITP INC. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเรา เมื่อ 105 ปีก่อนเป็นโรงพิมพ์ และบริษัทเราเองก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 เองก็เคยมีโรงพิมพ์ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าต้นกำเนิดของธุรกิจของบริษัทเราคือ อุตสาหกรรมการผลิต และแนวความคิดในการทำงานของเราก็เป็นเช่นเดียวกับบริษัทผู้ผลิตอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ลูกค้าของเรา 90% ก็เป็นบริษัทผู้ผลิตเช่นกัน

แม้ในปัจจุบันบริษัทจะให้บริการด้านมาเก็ตติ้ง IT และการพัฒนาแอพพลิเคชั่น แต่ปรัชญาในการทำงานในฐานะ "ผู้ผลิต" ยังคงไม่เปลี่ยนไป ในการทำงานแปล เรายังคงยึดมั่นใน "การควบคุมคุณภาพที่ดี" และการทำงานอย่างมี "ประสิทธิภาพ" เพื่อส่งสินค้าที่มีคุณภาพดีและให้บริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าของเรา และ Mindset นี้คือสิ่งที่พนักงานของเราทุกคนยึดถือเสมอในการทำงาน"

เทคโนโลยีการแปลโดย AI นี้ถูกพัฒนาโดยคนไทย?

"ใช่ค่ะ บริษัทเราเริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับ Machine Translation มาตั้งแต่ปี 2558 และในปี 2561 เมื่อสะสมข้อมูลมาได้ระดับหนึ่ง ดิฉันกับ Mr. Koyama (ประธานบริษัทคนปัจจุบัน) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของทีมพัฒนาก็ได้เริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับ AI Translation และตัดสินใจว่าหลังจากนี้ บริษัทเราจะคิดค้นและพัฒนา "AI Translation และ Machine Learning" อย่างจริงจัง

แม้ว่าปัจจุบันหลายๆ องค์กรในประเทศไทยจะเริ่มพัฒนาเทคโนโลยี AI แต่การพัฒนาเทคโนโลยี AI ในประเทศไทยยังไม่ค่อยแพร่หลาย เมื่อเทียบกับอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ดังนั้นในฐานะบริษัทหนึ่งในประเทศไทยเรามีความฝันว่าอยากจะพัฒนา AI Translation ขึ้นโดยคนไทย เพื่อให้บริการงานแปลภาษาไทยและภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้สักวัน และนอกจากนี้เรายังหวังว่าเราจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจงานแปลให้กับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน รวมทั้งมีส่วนช่วยให้ลูกค้าของเราสามารถผลิตงานแปลด้วยต้นทุนที่ต่ำลงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือกล่าวคือเราอยากสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในธุรกิจแปล

แม้ผ่านอุปสรรคมามากมาย แต่วันที่ AI Translation ของเราได้รับการยอมรับและใช้งานจากลูกค้า พวกเราทุกคนรวมทั้งดิฉันรู้สึกตื้นตันและมีกำลังใจมากยิ่งขึ้นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น"

ทั่วโลกมีผู้ให้บริการ AI Translation จำนวนมาก จุดแข็งของ AI Translation ของบริษัทคืออะไร?

"AI Translation มีขอบเขตที่ค่อนข้างกว่า บริษัทที่ให้บริการด้านนี้มีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่พัฒนา AI Engine ออกมาขาย หรือบริษัทที่ให้บริการระบบที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับทำงานแปล หรือบริษัทที่ให้บริการงานแปลแต่ก็นำเทคโนโลยีต่างๆ มายกระดับความสามารถในการแปลเช่นบริษัทของเรา ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีจุดแข็งของตัวเอง หากจะพูดถึงจุดแข็ง ดิฉันคิดว่าสิ่งที่เราควรคำนึงถึงมากที่สุด คือ Value หรือคุณค่าซึ่งจะเป็นแรงผลักดันและแรงขับเคลื่อนให้กับบริษัทของเราและธุรกิจของเรา

งานแปลคือธุรกิจหลักที่บริษัทของเราให้ความสำคัญเสมอมา และบริษัทของเราก็ให้บริการด้านการแปลมาอย่างยาวนาน จนถึงปัจจุบันเราได้ให้บริการงานแปลภาษาไทยมามากกว่า 100 ล้านคำ และเราภูมิใจที่จะพูดว่า "ประสบการณ์" และ "โนฮาว" ที่เราสั่งสมมาอย่างยาวนานในธุรกิจนี้คือ "จุดแข็ง" หรือ "คุณค่า" ของบริษัทเรา

การแปลงานโดยใช้ AI ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ "ขั้นตอนก่อนแปล" และ "ขั้นตอนหลังแปล" ซึ่งเต็มไปด้วยรายละเอียดและขั้นตอนที่ซับซ้อนต่างหากคือหัวใจสำคัญของการแปล Technical data ซี่งมีเพียงบริษัทที่ให้บริการงานแปลด้านนี้เท่านั้นที่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง และไม่ใช่ว่าใครๆ จะสามารถเรียนรู้โนฮาวนี้ได้อย่างง่ายดายหากปราศจากการสั่งสมประสบการณ์ ดิฉันเองทำงานกับบริษัท Ishida Taiseisha (Thailand) Co., Ltd. มากว่า 15 ปี และประสบการณ์อันยาวนานที่ได้คลุกคลีในธุรกิจการแปล Technical data นี้เองคือหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ทำให้เราสามารถพัฒนา AI Translation System ออกมาได้

เมื่อคิดว่า AI คือพนักงานคนหนึ่ง เรายังมีปัญหาต่างๆ ที่ต้องครุ่นคิดอีกมากมาย เช่น เราจะสร้างระบบเพื่อฝึกพนักงาน AI ของเราอย่างไร เรามีบุคลากรที่จะช่วยเหลือพนักงาน AI ของเราหรือไม่ เราจะเตรียมสภาพแวดล้อมอย่างไรเพื่อให้พนักงาน AI ของเราทำงานออกได้อย่างดีที่สุด เป็นต้น ซึ่งการที่เราสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ คือเหตุผลที่เราสามารถทำให้ AI ของเราสร้าง Performance การทำงานได้อย่างสูงสุด และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้บริษัทของเราสามารถทำยอดการแปลสะสมได้เกิน 160 ล้านคำเมื่อปลายปีที่แล้ว และเราคงไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้ หากบริษัทของเราไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำธุรกิจ จากนี้ไปบริษัท Ishida Taiseisha (Thailand) Co., Ltd. จะนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ส่งเสริมการเติบโตของทั้งบริษัทและอุตสาหกรรมการแปลอย่างต่อเนื่องค่ะ"

เป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าภูมิใจที่ประเทศเรามีทีมนักพัฒนาที่มีศักยภาพระดับนี้ ในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าโลกจะเปิดรับเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในชีวิตในรูปแบบใดกันต่อไป ประเทศไทยเราก็จะยังคงมีความพร้อมของบุคลากรและทรัพยากรที่ตอบรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีบนโลกใบนี้กันต่อไป สนใจทดลองใช้บริการหรือสอบถามรายละเอียดการให้บริการของ ITP เพิ่มเติม ติดต่อ 02-745-6050 (-4) หรือ https://snsh.biz/rQPlvD

เพิ่มเติม -ประวัติคุณธารทิพย์ มาพิบูลธัญชาติ-

จบการศึกษาระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนการศึกษาไปค้นคว้าวิจัยที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 ปี เริ่มต้นทำงานที่บริษัทผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น และเข้าทำงานที่บริษัท Ishida Taiseisha (Thailand) Co., Ltd. ในปี 2549 รับผิดชอบการผลิตงานแปลด้วย Big Database Translation ให้กับลูกค้ากว่า 100 บริษัท และรับผิดชอบการพัฒนาเว็บไซต์ เว็บแอพพลิเคชั่น สมาร์ทโฟนแอพพลิเคชั่น ตลอดจน AI Translation, CRM, E-Commerce และดิจิตัลมาเก็ตติ้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ