จ.อุบลฯ ลุยพื้นที่ต่อเนื่อง! ผนึกกำลัง นพค.55 สนับสนุนการปรับพื้นที่ฐานการเรียนรู้ต้นแบบ "โคก หนอง นา พช." ระดับตำบล แปลง CLM 15 ไร่ ในพื้นที่อำเภอตระการพืชผล พร้อมยึดหลักกสิกรรมธรรมชาติ สร้างทางรอดจากภัยโควิด-19 แก่พี่น้องประชาชน
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นางกนกอร โพธิ์สิงห์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นางวริชา เสาทอง พัฒนาการอำเภอเขื่องใน ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." งบเงินกู้รัฐบาล ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน กิจกรรมที่ 2 สร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล พื้นที่แปลงของนายกำพล มีลาด บ้านกุศกร หมู่ที่ 3 ตำบลกุศกร อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นางคำประไพ รักษาขันธ์ พัฒนาการอำเภอตระการพืชผล พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมผลการดำเนินงาน
สำหรับการปรับพื้นที่แปลงตัวอย่าง (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล พื้นที่แปลงของนายกำพล มีลาด บ้านกุศกร หมู่ที่ 3 ตำบลกุศกร อำเภอตระการพืชผล บนพื้นที่ 15 ไร่ นั้น ใช้แบบมาตรฐาน สัดส่วน 1:2 มีความก้าวหน้า 90% ซึ่งดำเนินการปรับพื้นที่โดยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 55 สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ จะสามารถเป็นแปลงเรียนรู้ระดับตำบลต่อไป
จังหวัดอุบลราชธานี มีเป้าหมายเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." งบเงินกู้รัฐบาล ทั้งหมด 3,960 แปลง เป็นพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ระดับครัวเรือน จำนวน 3,892 ครัวเรือน และพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล จำนวน 68 ครัวเรือน/แปลง แบ่งเป็น พื้นที่ 10 ไร่ จำนวน 1 ครัวเรือน/แปลง และ พื้นที่ 15 ไร่ จำนวน 67 ครัวเรือน/แปลง ในส่วนของอำเภอตระการพืชผล ซึ่งเป็นอำเภอที่มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการฯ มากที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ 1,190 แปลง เป็น HLM 1,177 แปลง (พื้นที่ 1 ไร่ 560 แปลง, พื้นที่ 3 ไร่ 617 แปลง) และ CLM 13 แปลง (พื้นที่ 15 ไร่) มีการจ้างงาน นพต.ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 150 คน
โดยเมื่อปรับพื้นที่เสร็จ บุคลากรในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชน จะมีบทบาทในการสนับสนุนให้ครัวเรือนพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้เข้าร่วมการจ้างงานสร้างรายได้ และแรงงานจิตอาสาชุมชน สร้างฐานเรียนรู้ เพื่อการพึ่งตนเอง ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ จำนวน 9 ฐานเรียนรู้ ประกอบด้วย ฐานกสิกรรมธรรมชาติ ฐานคนรักษ์น้ำ ฐานคนรักษ์แม่ธรณี ฐานคนรักษ์แม่โพสพ ฐานคนติดดิน ฐานคนมีไฟ ฐานคนเอาถ่าน ฐานหัวคันนาทองคำ ฐานคนหัวเห็ด
โอกาสนี้ คณะจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้พบปะและตรวจเยี่ยมแปลงผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." พร้อมให้คำแนะนำในการยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการพึ่งตนเอง ก่อนขยายผลเป็นต้นแบบให้คนในพื้นที่และชุมชนอื่น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบันที่ต้องช่วยสร้างแนวทางความอยู่รอดและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ร่วมกับ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 55 สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ก่อให้เกิดแหล่งเรียนรู้ระดับตำบลและน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้สามารถยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนต่อไป