ม.หอการค้าไทยแถลงข่าวผลการสำรวจความเชื่อมั่นเกียวกับเศรษฐกิจไทยเดือนเมษายน 2564คนไทยกังวลโควิดรอบ 3 ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นฯเดือนเม.ย.ต่ำสุดทุกรายการ ม.หอการค้าฯ ชี้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยไป และต้องเร่งให้เร็วขึ้น หลังคาดการณ์ความเสียหาย กว่า 5 แสนล้านหนักกว่าโควิดรอบแรก เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ณ อาคารสัญลักษณ์ (อาคาร 24 ) ชั้น 15 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อยู่ที่ 46 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 271 เดือนหรือ 22 ปี 7 เดือน เนื่องจากมีความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของในประเทศไทยในรอบที่ 3 ประกอบ รวมถึงความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลงและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนักและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ว่ามาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการ "เราชนะ" และโครงการต่างๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม
การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตามต้องติดตามการแพร่กระจายของโควิดรอบใหม่ว่าจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน รุนแรงเพียงใด และรัฐบาลจะมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างไร รวมถึงจะมีการ Lockdown ในจังหวัดต่างๆ มากน้อยเพียงใด จะคลี่คลายลงเมื่อไร และจะมีการฉีดวัคซีนได้รวดเร็วแค่ไหน จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัว 0.0-1.5% ได้
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวถึง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุด การใช้เม็ดเงิน 2.4 แสนล้านบาทเริ่มตั้งแต่ไตรมาส2 อาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะมาตรการคนละครึ่ง และเรารักกัน อย่างน้อยควาจะเริ่มได้ตั้งแต่เดือนมิ.ย. เป็นต้นไป จึงจะมีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศได้ ทั้งนี้เดิมเคยประเมินความเสียหายจากโควิดรอบนี้ไว้ 2-3 แสนล้านบาท แต่ขณะนี้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นความเสียหายจะเกิดขึ้นใสช่วงไตรมาส2 ถึง 3-4.5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะเดือนพ.ค.จะกระทบ 1.5 - 2 แสนล้านบาท ขณะที่ภาครัฐจะอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส2 จำนวน 1 แสนล้านบาท เพื่อลดค่าครองชีพ และทยอยเติมเงิน ภายหลัง ซึ่งถึงว่ายังน้อยไป เมื่อเทียบกับความเสียหายที่อาจมากถึง 4-5 แสนล้าน ยังไม่สามารถตุ้นเศรษฐกิจได้"มาตรการเติมเงินเข้าระบบ รวม 4 แสนล้าน อยากให้อยู่ไตรมาสสอง และควรจะเพิ่มวงเงินมาตรการคนละครึ่ง เป็น 6,000 บาท เริ่มเลยในเดือนมิ.ย. จะช่วยเศรษฐกิจได้ ทำให้มีเม็ดเงินเข้าไป 1.8 แสนล้านบาท น่าจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีเงินหมุนเวียนได้ ส่วนมาตรการใหม่ "ยิ่งใช้ยิ่งดี" โดยรัฐบาลจะสนับสนุน E-Voucher ควรดำเนินการในลักษณะคนละครึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่า"