กทม.บริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อกว่า 16 ตัน/วัน-กำชับ จนท.ใส่อุปกรณ์ป้องกันขณะปฏิบัติงาน

ข่าวทั่วไป Friday May 7, 2021 09:29 —ThaiPR.net

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เดือน เม.ย. ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 5 พ.ค.64 กรุงเทพมหานครมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงขยะหน้ากากอนามัยที่เก็บขนและกำจัดจากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สถานที่กักตัวของรัฐ และโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว โรงพยาบาลสนาม และสถานที่สำหรับผู้กักตัว เช่น บ้านพักอาศัย ปริมาณทั้งสิ้น 547.93 ตัน หรือเฉลี่ย 16.12 ตัน/วัน โดยวันที่ 5 พ.ค. มีมูลฝอยติดเชื้อ 70,760 กิโลกรัม (กก.) แบ่งเป็นมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 21,271 กก. และมูลฝอยติดเชื้อทั่วไป จำนวน 49,489 กก. โดยมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงขยะหน้ากากอนามัยที่เก็บรวบรวมทั้งหมด กรุงเทพมหานครได้บริหารจัดการ โดยจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด นำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยติดเชื้ออ่อนนุชและหนองแขม

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เน้นย้ำให้ผู้ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอยดำเนินการตามข้อปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งก่อนการปฏิบัติงาน ขณะปฏิบัติงาน และหลังการปฏิบัติงาน พร้อมกำชับและตรวจสอบการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลทุกครั้งที่ปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการจัดเก็บหน้ากากอนามัยให้ใช้คีมคีบขยะแทนการใช้มือหยิบจับ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสมูลฝอยโดยตรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการสัมผัสเชื้อโรค ขณะเดียวกันได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อเน้นย้ำและสร้างความเข้าใจการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี โดยขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งหน้ากากอนามัยปะปนกับมูลฝอยทั่วไปในครัวเรือน และทิ้งหน้ากากอนามัยใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น เขียน หรือติดหน้าถุงว่า "หน้ากากอนามัย" แยกทิ้งให้กับรถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต หรือทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม) ซึ่งตั้งวางที่สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) โรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์กีฬา กทม. ศูนย์เยาวชน กทม. สถานีดับเพลิง สวนสาธารณะ และสถานที่สาธารณะที่เหมาะสม เช่น ตลาด วัด ชุมชน บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงานเคหะชุมชนต่าง ๆ และสถานที่สาธารณะที่เหมาะสม โดยมีจุดให้บริการประมาณ 1,000 จุด เพื่ออำนวยความสะดวกในการทิ้งของประชาชนและความสะดวกต่อการเก็บรวบรวม นำไปกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ