บมจ.ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) หรือTPLAS โชว์ฟอร์มสวย เปิดกำไรสุทธิไตรมาส1/2564 แตะ 9.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.36% จากงวดไตรมาส 1/2563 รับอานิสงส์สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด หนุนความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์อาหาร และถุงพลาสติกเพิ่มขึ้น ดันออเดอร์ผลิตล้นมือ ขณะที่ราคาขายปรับตัวสูงขึ้น ฟากผู้บริหาร "อภิรัตน์ ธีระรุจินนท์" ประเมินอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แนวโน้มดีต่อเนื่อง ความต้องการใช้พุ่ง เดินหน้าเพิ่มผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษ หวังดันมาร์จิ้นเพิ่ม พร้อมปักหมุดปีนี้รายได้โต 10% จากปีก่อน
นาย อภิรัตน์ ธีระรุจินนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) จำกัด (มหาชน) หรือ TPLAS ผู้นำด้านผลิตและจัดจำหน่ายถุงพลาสติกบรรจุอาหาร และถุงพลาสติกหูหิ้ว ภายใต้ตราสินค้า "หมากรุก" ฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร ภายใต้ตราสินค้า "Vow wrap" และกล่องกระดาษบรรจุอาหาร เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.36% จากไตรมาส 1/2563 มีกำไรสุทธิเท่ากับ 6.10 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 128.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.59% จากไตรมาส 1/2563 มีรายได้เท่ากับ 110.31 ล้านบาท
สาเหตุที่มีกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่ผู้บริโภคต้องปรับรูปแบบการทำงาน Work From Home รวมทั้งเน้นการสั่งอาหารผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ ทำให้ความต้องการใช้ถุงบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทฯ และเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน
ขณะเดียวกันการที่ราคาเม็ดพลาสติกในตลาดโลกปรับตัวขึ้นประมาณ 20 - 30% ทำให้สามารถปรับเพิ่มราคาขายสินค้าได้สูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่บริษัทฯ ดำเนินการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิทำให้สามารถรักษาการเติบโตในระดับที่ดีได้ต่อเนื่อง
"ผลประกอบการไตรมาส 1/2564 มีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น สนับสนุนให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันราคาขายปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาเม็ดพลาสติกปรับตัวเพิ่มขึ้นตามตลาดโลก ส่งผลให้รายได้และกำไรมีทิศทางที่ดีขึ้นด้วย"
รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวอีกว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2564 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเติบโตรายได้อยู่ที่ 10% โดยจะแบ่งสัดส่วนรายได้เป็นรายได้จากยอดขายสินค้าบรรจุภัณฑ์ประเภทถุงที่ 82% ฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร 10% และบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษ 8% ซึ่งประเมินว่า ความต้องการใช้ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ยังเติบโตได้ดีในระยะยาว
รวมทั้งจะเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่สร้างความหลากหลาย เช่น บรรจุภัณฑ์กระดาษประเภท จาน ถ้วย และถาด เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ แต่ในเบื้องต้นจะเน้นเพิ่มสัดส่วนสินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษบรรจุอาหาร เนื่องจากจะสนับสนุนให้มีอัตรากำไรขั้นต้นในระดับที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่เพิ่มส่งผลให้กำลังการผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษบรรจุอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 31 ล้านใบต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 12 ล้านใบต่อปี อย่างไรก็ตาม สินค้าดังกล่าวคาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในอนาคต