กำไรโตแรงไม่สนโควิด ! SINGER ประกาศงบ Q1/64 กำไรสุทธิอยู่ที่140 ล้านบาท โต 60.9% รายได้รวมอยู่ที่ 1,002 ล้านบาท โต 32.9% พอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 7,516 ล้านบาท และสามารถคุม NPL ได้ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ 4% มั่นใจเดินตามแผน พอร์ตสินเชื่อโตแตะ 10,000 ล้านบาท
นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER เปิดเผยว่า ผลประกอบการงวดประจำไตรมาส 1/2564 กำไรสุทธิทำสถิติสูงสุดใหม่รายไตรมาสอีกครั้ง โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 140 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60.9 % เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 87 ล้านบาท และมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,002 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 754 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเชิงพาณิชย์ แม้ว่าจะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่พอร์ตสินเชื่อของบริษัทฯ ยังขยายตัว จากการมีจำนวนพนักงานขาย และเครือข่ายสาขาย่อยของซิงเกอร์แฟรนไชส์เพิ่มขึ้น ประกอบกับ การเริ่มทำการตลาดเชิงรุก ใช้พรีเซ็นเตอร์เข้ามาเขย่าตลาดสินเชื่อและค้าปลีก ลงลึกถึงระดับต่างจังหวัด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก ควบคู่การนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการอนุมัติและติดตามสินเชื่อได้อย่างรวดเร็ว และการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ลดลง ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48% มีพอร์ตสินเชื่อที่เติบโตทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับเติบโต 15.5% จากไตรมาส 4/2563 และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 14% สำหรับภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 4% ลดลงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จาก ไตรมาส 1/2563 NPL อยู่ที่ระดับ 8.1% และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 NPL อยู่ที่ระดับ 4.4%
นอกจากนี้ บริษัทฯ ประสบความสำเร็จจากการออกหุ้นกู้ และได้แหล่งเงินทุนจากการออกหุ้นกู้ในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา 1,000 ล้านบาท และในเดือน มีนาคม 2564 อีกราว 2,000 ล้านบาท สนับสนุนแผนการขยายพอร์ตให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะพอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) ที่ขยายตัวโดดเด่น มีอัตราดอกเบี้ยดี และความเสี่ยงต่ำ
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2564 บริษัทฯ มีตัวแทนขายจำนวน 4,161 ราย และมีการขยายสาขาผ่าน แฟรนไชส์ หรือร้านสาขาย่อยได้แล้ว 2,465 แห่ง รวมถึง การขยายตลาดออนไลน์ และโปโมชั่นในการทำการตลาดร่วมกับบริษัทในกลุ่มเจมาร์ท ผลักดันให้พอร์ตสินเชื่อ ณ ไตรมาส 1/2564 (สิ้นมีนาคม 2564) อยู่ที่ 7,516 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire purchase) 3,475 ล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) 4,041 ล้านบาท เติบโตจากปลายปี 2563 ซึ่งมีพอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 6,604 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโต 13.8%
แนวโน้มปี 2564 มั่นใจยังเติบโตดี สนับสนุนเป้าหมายขยายพอร์ตสินเชื่อทั้งปีจะเติบโตแตะระดับ 10,000 ล้านบาทตามที่วางไว้ สนับสนุนเป้าหมายรายได้รวมปี 2564 จะเติบโต 25% ส่วนกำไรแข็งแกร่งต่อเนื่อง