กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เร่งสร้างความมั่นใจส่งออกทูน่ากระป๋องและแปรรูปไทยปลอดเชื้อโควิด-19 ออกมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 สร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทั่วโลก พร้อมเดินหน้า "โครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" (Thailand Delivers with Safety) ด้านสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยขานรับให้ความร่วมมือ เผยทิศทางส่งออกทูน่าไทยในปีนี้ยังคงเติบโตได้ ด้วยจุดแข็งความพร้อมทักษะฝีมือแรงงานและเทคโนโลยีการผลิตที่ครบวงจรได้มาตรฐานสากล สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบสนองแต่ละตลาดได้ วางเป้าหมายส่งออกในปีนี้ไว้ที่ 73,838.33 ล้านบาท
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ทิศทางการส่งออกทูน่ากระป๋องและแปรรูปในปี 2564 นี้ คาดว่ายังคงเติบโตได้ โดยวางเป้าหมายการส่งออกอยู่ที่ 73,838.33 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยยังคงมีจุดแข็งและมีความพร้อมด้านทักษะฝีมือแรงงาน ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตที่ครบวงจรได้มาตรฐานสากล สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้เปรียบด้านของทำเลที่ตั้งในการรับซื้อปลาทูน่าจากทั่วโลก นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังมีเครือข่ายครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบการผลิต ไปจนถึงช่องทางการกระจายสินค้าในตลาดสำคัญ
"แม้ว่าประเทศไทยยังมีจุดแข็งและได้เปรียบในแง่ของการส่งออกทูน่ากระป๋องและแปรรูปจนเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศทั่วโลก แต่เรายังคงต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงระบาดอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้า โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้บูรณาการกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการยกระดับกระบวนการผลิต ด้วยการออกมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อการส่งออกอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ให้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะดำเนินการควบคู่กับกลยุทธ์ในการส่งออกทูน่ากระป๋องและแปรรูป โดยเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพพร้อมขยายฐานการผลิตไปยังตลาดหลักเพื่อประโยชน์ทางด้าน ต้นทุนทางภาษีและโลจิสติกส์ รวมถึงลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อขยายตลาด รวมถึงการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปทูน่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" นายสมเด็จ กล่าว
สำหรับมาตรการดังกล่าว ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการ และSupplier ที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งวัตถุดิบจากเรือ หรือท่าเรือ ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
- เพิ่มความเข้มข้นในการลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ Ingredient และภาชนะบรรจุ
- โรงงานผู้ผลิตต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตที่เข้มงวด ทั้งคุณภาพและความปลอดภัยในการรับวัตถุดิบจากเรือ ท่าเรือ การจัดเก็บในห้องเย็น การแปรรูป การบรรจุ การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในตู้คอนเทนเนอร์
- การควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในโรงงาน ตั้งแต่สถานที่และอาคารผลิต
- การเคร่งครัดในการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อในอาคารผลิต เครื่องจักร พื้น ผนัง รวมทั้งพื้นที่ผิวจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสร่วมกัน
- มีมาตรการคัดกรองบุคลากร ก่อนเข้าสถานที่ทำงาน ตลอดจนรอบรมพนักงานให้มีความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
พร้อมกันนี้ ได้เดินหน้า "โครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" (Thailand Delivers with Safety) โดยคุมเข้มมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทั่วโลก และเป็นการตอกย้ำว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตอาหาร และมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การเก็บเกี่ยว การขนส่ง มีระบบป้องกันตนเองของพนักงานในโรงงาน การบรรจุ และการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ในฐานะภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามมาตรการ โดยขอความร่วมมือสมาชิกในสมาคม ฯ ให้เข้มงวดและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยที่ผ่านมาทางสมาคมฯได้มีการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาควบคู่ไปกับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงาน Supply chain อย่างต่อเนื่อง
ส่วนภาพรวมการส่งออกทูน่ากระป๋องและแปรรูปในเดือน ม.ค. 64มีการส่งออกทั้งสิ้น 41,447 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,919.71 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.59 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.37
ขณะเดียวกัน ประเทศที่เป็นตลาดหลักและมีการนำเข้าทูน่ากระป๋องและแปรรูปจากไทยมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อียิปต์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และ แคนาดา รวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.45 ส่วนตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูง ได้แก่ อาร์เจนตินา (ร้อยละ 268.39) มาเลเซีย (ร้อยละ 106.41) อียิปต์ (ร้อยละ 83.92) เลบานอน (ร้อยละ 70.92) อิสราเอล (ร้อยละ 67.37)