จากวิกฤตไวรัสโคโลน่าโควิด - 19 ระบาดรอบที่สาม ทำให้พบผู้ติดเชื้อรายวันมากกว่าจำนวนหลักร้อยหลายในจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พร้อมขยายวงกว้างไปยังจังหวัดต่างๆ หน่วยงานภาครัฐเริ่มกำหนดนโยบายเชิงรุก ให้บริการตรวจหาเชื้อประชาชนตามสถานที่ต่างๆ เพื่อค้นหาจำนวนผู้ป่วยให้พบเร็วที่สุด พร้อมหยุดแพร่กระจายเชื้อ หน้าที่หลักหลังพบผู้ป่วยแล้วหลังจากนี้ที่สำคัญ คือ เจ้าหน้าที่กู้ภัยหรือพยาบาลสนามที่ต้องเสียสละปฎิบัติหน้าที่ออกไปรับผู้ป่วยตามสถานที่ต่างๆ เพื่อนำมาทำการรักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานที่ที่หน่วยงานภาครัฐจัดเตรียมไว้ให้
นายวีรพัฒน์ อึ้งอร่าม คณะบริหารธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และทีมรถพยาบาลรับผู้ป่วยประจำศูนย์แรกรับและส่งต่อ กระทรวงสาธารณะสุข อาคารนิมิตบุตร เล่าว่า "ก่อนหน้านี้ผมเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำตามปกติ บุคลากรทางการแพทย์นั้นมีหลายระดับอย่างผมเองก่อนที่จะมาทำนั้น ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร EMT (Emergency Medical Technician) เป็นหลักสูตรสำหรับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและอาสาสมัคร (อาสากู้ชีพ) โดยจะเปิดอบรม 115 ชั่วโมงจากทางโรงพยาบาลเพื่อที่จะมาทำงทานบนรถ ambulance พอเกิดวิกฤตไวรัสโคโลน่าโควิด - 19 ระบาดครั้งนี้ ได้มาทำตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำรถ ambulance ที่คอยออกไปรับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ตามสถานที่ต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายมา โดยตัวผมเองจะเป็นคนที่ลงไปเปิดประตูรถและให้ผู้ป่วยเคสสีเขียวเดินขึ้นรถด้วยตนเองหน้าที่ คือ ดูแลความเรียบร้อยต่างๆในเบื้องต้นและคอยเปิดประตูรถรับผู้ป่วย นอกจากนี้ยังต้องประเมินสถานการณ์ดูว่าผุ้ป่วยมีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่ สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวหรือที่เราเรียกว่าเขียวอ่อนนั้น คือผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น ไอเล็กน้อย เจ็บคอ ไปจนถึงไม่มีอาการเลย"
"สำหรับทีมรับผู้ป่วยจะต้องมาแสตนบายรอตั้งแต่ตอนเช้าและรอจนถึง 3 - 4 ทุ่ม จนกว่าจะไม่มีเคสหลังจากนั้นจะสลับสับเปลี่ยนกันกลับบ้าน แต่ในทุกวันๆต้องนำรถ ambulance มาแสตนบายรออยู่ที่ศูนย์แรกรับ เพื่อที่จะรอคำสั่งจากทางกระทรวงสาธารณะสุขให้ออกไปรับผู้ป่วยตามสถานที่ต่างๆ ในจุดที่รับผิดชอบ แต่ละวันจะมีเคสเข้ามาประมาณ 30 - 40 เคสหรือมากกว่านั้นโดยเฉลี่ย ผู้ป่วยที่ไปรับมานั้นจะนำผู้ป่วยมาส่งที่ศูนย์แรกรับ เพื่อผ่านการคัดกรองและแยกย้ายไปยังสถานที่ต่างๆ ตามอาการที่ทางเจ้าหน้าที่ได้คัดกรอง เมื่อคัดกรองเรียบร้อยแล้วกลุ่มทีมงานพวกเราจะต้องพาผู้ป่วยไปยังสถานที่ที่ผู้ป่วยต้องไปรักษาตัวด้วยเช่นกัน ถึงจะสิ้นสุดหน้าที่ ความรู้สึกประทับใจน้ำใจครั้งนี้ในการทำหน้าที่ล้วนได้มาจากพี่น้องคนไทยทุกคน การที่พวกเราได้มาอยู่ตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นพวกเราหรือบุคลากรทางการแพทย์ ทุกคนนั้นได้รับความสนับสนุนจากพี่ๆ น้องๆ ประชาชนและภาคธุรกิจ ภาคเอกชนต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน อุปกรณ์ชุด PPE ที่ได้ส่งมาให้เพื่อเป็นแรงสนับสนุน รวมถึงอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ส่งเข้ามาให้กับพวกเรา ล้วนเป็นความประทับใจอย่างหนึ่งที่เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นคนไทยไม่ว่าอยู่ที่ไหนที่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือกัน สุดท้ายอยากให้คนไทยป้องกันตนเองและปฏิบัติตามมาตรการที่ทางการแพทย์กำหนด เพราะจะเป็นการช่วยเหลือและป้องกันตนเองได้ดีที่สุด ที่สำคัญอยากจะให้คนไทยทุกคนสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือบ่อยๆ นี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด"