PwC เผยไทยติดอันดับ 1 ของโลกด้านการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลแบบ Wholesale CBDC

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 17, 2021 11:24 —ThaiPR.net

PwC เผยไทยติดอันดับ 1 ของโลกด้านการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลแบบ Wholesale CBDC

PwC เผยรายงานที่จัดอันดับการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ทั่วโลกพบไทยเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างธนาคาร (Interbank or Wholesale CBDC) มากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ร่วมกับเขตปกครองพิเศษฮ่องกงจาก "โครงการอินทนนท์-ไลออนร็อก" พร้อมแนะติดตาม 3 แนวโน้มของการพัฒนา CBDC ในปีนี้ที่คาดว่า จำนวนธนาคารกลาง ปริมาณธุรกรรม และการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้สนับสนุนโครงการจะยิ่งปรับตัวเพิ่มมากขึ้น

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา และหัวหน้ากลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน PwC CBDC Global Index 2021 ซึ่งได้จัดทำดัชนีเพื่อวัดระดับความพร้อมของธนาคารกลางทั่วโลกในการปรับใช้สกุลเงินดิจิทัล โดยแบ่งประเภทของการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลออกเป็น 2 รูปแบบคือ สกุลเงินดิจิทัลสำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป (Retail CBDC) และสกุลเงินดิจิทัลสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างธนาคาร (Interbank or wholesale CBDC) พบว่า ไทยและเขตปกครองพิเศษฮ่องกงมีความก้าวหน้าในการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารอยู่ในอันดับที่ 1 โดยมีค่าดัชนีที่ 80 เท่ากัน เป็นผลมาจากโครงการอินทนนท์-ไลออนร็อก (Project Inthanon-LionRock) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางฮ่องกง (The Hong Kong Monetary Authority: HKMA)

"โครงการอินทนนท์-ไลออนร็อก ถือได้ว่าเป็นโครงการสกุลเงินดิจิทัลที่มีความก้าวหน้าที่สุดทั้งในด้านการออกแบบและพัฒนาระบบแบบ Wholesale CBDC โดยในปี 2562 ทางแบงก์ชาติของไทยได้ร่วมมือกับธนาคารกลางฮ่องกงในการทดสอบการใช้งาน CBDC เพื่อทำธุรกรรมข้ามพรมแดนขึ้น รวมทั้งยังเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์ต้นแบบในการชำระเงินระหว่างประเทศและขยายขอบเขตการใช้งานไปในด้านอื่น ๆ" นางสาว วิไลพร กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการดังกล่าว กำลังเข้าสู่การพัฒนาระยะที่ 2 โดยได้ขยายขอบเขตการชำระเงินข้ามพรมแดนจากแบบทวิภาคี ไปสู่การรองรับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางอื่น ๆ และครอบคลุมหลายสกุลเงินมากขึ้น

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC DCI) ได้ประกาศเข้าร่วมโครงการอินทนนท์-ไลออนร็อก และได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น "โครงการ Multiple Central Bank Digital Currency (m-CBDC) Bridge[1]" หรือ m-CBDC Bridge เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยจะมีการประเมินผลการทดสอบเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของการนำโครงการ m-CBDC Bridge มาใช้จริงในระยะต่อไป

"การพัฒนา CBDC จะยิ่งช่วยให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงินถูกลง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการชำระเงินของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อถูกนำไปใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีบล็อกเชนที่อยู่เบื้องหลังของสกุลเงินดิจิทัล จะทำให้ระบบนิเวศทางการเงินยุคใหม่เกิดความปลอดภัยและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น" นางสาว วิไลพร กล่าว 

นอกจากนี้ รายงานของ PwC ระบุว่า ปัจจุบันมีธนาคารกลางทั่วโลกจำนวนมากกว่า 60 แห่งที่กำลังศึกษาการพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลทั้งในรูปแบบการใช้งานธุรกรรมระหว่างธนาคาร (Wholesale CBDC) และการใช้งานสำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC) โดยโครงการสกุลเงินดิจิทัลประเภทรายย่อย จะมีบทบาทในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ต้องการมีบริการทางการเงินที่ทั่วถึง (Financial inclusion) ขณะที่โครงการประเภทระหว่างสถาบัน ส่วนใหญ่เกิดอยู่ในประเทศที่มีเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วที่มีระบบกู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร และตลาดทุนที่มีความพร้อม

สำหรับโครงการประเภท Retail CBDC นั้น ประเทศบาฮามาสถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 1 (โครงการ Sand Dollar) ตามด้วยอันดับที่ 2 คือประเทศกัมพูชา (โครงการ Bakong) โดยมีค่าดัชนีที่ 92 และ 83 ตามลำดับ โดยโครงการดังกล่าวของสองประเทศนี้ ได้เกิดขึ้นและใช้ได้จริงเรียบร้อยแล้ว

3 แนวโน้มของการพัฒนา CBDC ที่ต้องจับตาในปีนี้

ทั้งนี้ รายงานของ PwC ยังได้ระบุถึง 3 แนวโน้มของการพัฒนา CBDC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 ไว้ ดังต่อไปนี้

  • การพัฒนา CBDC จะได้รับความสนใจมากขึ้น หลังจากธนาคารกลางทั่วโลกกว่า 60 แห่งได้เริ่มศึกษาการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตนเองไปตั้งแต่ปี 2557 ส่งผลให้หลายโครงการในตอนนี้เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการนำไปใช้ ขณะที่การมีส่วนร่วมของสถาบันต่าง ๆ ในการพัฒนาโครงการ CBDC เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของระบบนิเวศทางการเงินของโลกจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานอย่างธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) รวมทั้งสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) จะเป็นองค์กรชั้นนำที่ผลักดันการพัฒนาในเรื่องนี้
  •  

  • ปริมาณธุรกรรมยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม แม้ว่าปัจจุบันจะมีโครงการประเภท Retail CBDC สองโครงการที่มีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้วในโลก แต่โครงการประเภท Wholesale CBDC ยังไม่ได้ถูกพัฒนาไปถึงขั้นที่ใช้งานได้จริง โดยเกือบ 70% ของโครงการประเภท Wholesale CBDC กำลังอยู่ในช่วงของการนำร่อง ขณะที่มีเพียง 23% ของโครงการประเภท Retail CBDC เท่านั้น ที่เข้าสู่ขั้นตอนของการประยุกต์ใช้งาน
  •  

  • บล็อกเชนจะเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน มากกว่า 88% ของโครงการ CBDC ทั้งแบบนำร่อง หรืออยู่ในขั้นตอนการผลิตต่างใช้บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน โดยเทคโนโลยีนี้มีประโยชน์ต่อการพัฒนา CBDC หลายด้าน เช่น ช่วยให้การถ่ายโอนความเป็นเจ้าของสกุลเงินดิจิทัลมีความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการสนับสนุนเงินดิจิทัล นอกจากนี้ ยังสามารถนำสัญญาอัจฉริยะ (Smart contract) มาประยุกต์ใช้ในการกำหนดเงื่อนไขของสัญญาที่ต้องปฏิบัติตามได้อย่างชัดเจน มีเส้นทางการตรวจสอบที่โปร่งใส และเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกันกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ เป็นต้น
  • "ระยะถัดไปของการพัฒนา CBDC ของไทยคือ เร่งให้โครงการ Wholesale CBDC ที่ยังอยู่ในระยะนำร่องสามารถใช้งานได้จริง และในขณะเดียวกัน แบงก์ชาติมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปเพื่อร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ไปจนถึงกลางเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งเรามองว่า การศึกษาถึงการใช้งานและผลกระทบในการนำ CBDC มาใช้งานในภาคประชาชน จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้แก่กลุ่มคนจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้รัฐจัดเก็บข้อมูลที่มีประโยชน์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เช่น จัดเก็บภาษีได้ดีขึ้น ช่วยบริหารความเสี่ยงจากการฟอกเงิน และอื่น ๆ อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายทางการเงิน รวมทั้งบทบาทของแบงก์ชาติและสถาบันการเงิน จะล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของประเทศในอนาคต" นางสาว วิไลพร กล่าว

    [1] ข่าว ธปท. ฉบับที่ 11/2564 เรื่อง กลุ่มธนาคารกลางเข้าร่วมโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ, ธนาคารแห่งประเทศไทย


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ