สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด 19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบันเรียกได้ว่า อยู่ในขั้นวิกฤต จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวมากกว่าครึ่งแสนคน หนึ่งในทีมด่านหน้าเข้าชาร์จพื้นที่แพร่ระบาด อย่างรวดเร็ว เพื่อค้นหาคัดแยกผู้ป่วยติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการในเขตชุมชน คือ "นักเทคนิคการแพทย์จิตอาสา" ที่พร้อมปฏิบัติงานตามภารกิจเร่งด่วนในการตรวจคัดกรองเชิงรุก
ด้วยหัวใจเพื่อสังคมอย่างแท้จริง รวมถึงการปลูกฝังจากอาจารย์และสถาบันว่าต้องใช้ความรู้ทางการแพทย์ที่มี ทำประโยชน์ให้ประชาชนและประเทศชาติ ทำให้ 3 บัณฑิตเทคนิคการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เข้าร่วมงานจิตอาสา "MT Heroes" ของ สมาคมเทคนิคการแพทย์ แห่งประเทศไทย ในการระดมสรรพกำลังนักเทคนิคการแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพ ช่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด 19 โดยหวังเป็นหนึ่งแรงช่วยบรรเทาสถานการณ์โรคระบาดคร่าชีวิตผู้คน
กระนั้น การตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัสไม่ว่าจะด้วยวิธีการตรวจป้ายคอ (Throat Swab) หรือด้วยการ ตรวจป้ายทางเดินหายใจส่วนบน (Nasopharyngeal Swab) เพื่อเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความสามารถเฉพาะทาง แต่ทีมนักเทคนิคการแพทย์ที่ชำนาญแล้วจะช่วยคัดกรองรายวันได้ถึง วันละ 1,000-10,000 คน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขากลายเป็นกำลังสำคัญ
"เหนื่อยแต่ภูมิใจ" ถ้อยคำเปิดใจจาก 3 หนุ่มสาวนักเทคนิคการแพทย์ ทนพญ.ศุภาวรรณ เพชรโต พงษ์พัฒน์ ชาติพหล และ ธีริศรา ชำนาญวงศ์ บัณฑิตรั้วบ้านสมเด็จฯ ปี 2562 ที่ค่อยๆ พรั่งพรูประสบการณ์สลัดทิ้ง ความกลัวเข้าช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
"ผมทำงานพาร์ทไทม์รับเจาะเลือดตรวจสุขภาพให้กับบริษัทและโรงงาน แต่เป็นช่วงล็อคดาวน์งานเลยไม่มี เห็นโพสต์ในเฟซบุ๊กว่าต้องการนักเทคนิคการแพทย์ไปช่วยงานจิตอาสาของทางสมาคมฯ ผมเลยไป" พงษ์พัฒน์ เล่าถึง ที่มาของการเข้าร่วมโปรเจ็กต์
เช่นเดียวกับ ธีริศรา ที่เห็นข้อความประกาศจากเฟซบุ๊กจึงเข้าร่วมโครงการ MT Heroes
ขณะที่เหตุผลของ ทนพญ. ศุภาวรรณ นั้นต่างออกไป เธอบอกว่าที่ทำงานเปิดช่องจัดโครงการอาสาสมัคร ร่วมกับ MT Heroes และเธอเต็มใจที่จะเข้าร่วมโครงการอย่างไม่ลังเล
แม้จะทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย เปอร์เซ็นต์เสี่ยงติดโรคระบาดก็มากเพราะเป็นบุคลากรด่านหน้า ซึ่งแต่ละคนร่วมตรวจหาเชื้อให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงไปแล้วไม่น้อย ทั้งในโรงแรม เรือนจำ พื้นที่ระบาดใน จ.สมุทรสาคร โดยร่วมกับกรมควบคุมโรค และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภายใต้ชุดป้องกันที่คลุมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าอบอ้าวระอุอยู่ ข้างใน ทว่า ทั้ง พงษ์พัฒน์ และ ธีริศรา กลับรู้สึกเหมือนกันว่า ภูมิใจในวิชาชีพที่เรียนมา และรู้สึกดีที่เป็นด่านแรก ในการป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่สู่บุคคลอื่น
"ถามว่ากลัวมั้ย ก็กลัวนะคะ เพราะคัดกรองแล้วเจอผู้ติดเชื้อไม่น้อย แต่หากเราเซฟตี้อย่างดี ใส่อุปกรณ์ป้องกัน ตามหลักวิชาชีพครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นชุดฟูลพีพีอี หน้ากาก N95 และเฟซชิลด์ เป็นต้น นอกจากนี้ก็หมั่นล้างมือ ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ ก็ปลอดภัยแล้วค่ะ" ทนพญ.ศุภาวรรณ บรรยายความรู้สึกของตัวเอง
ขณะที่ ธีริศรา อาสาอธิบายขั้นตอนการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด 19 แม้จะเป็นบัณฑิตได้เพียงปีกว่า แต่ด้วยความเชี่ยวชาญจากการเน้นปฏิบัติจริงในช่วงเป็นนักศึกษา และได้รับการอรบรม Nasopharyngeal Swab เพิ่มจากสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย ทำให้เธอและเพื่อนๆ ทำงานได้อย่างราบรื่น โดยเริ่มต้นจาก การเปลี่ยนถุงมือยางทุกเคส จากนั้นตรวจสอบชื่อ-สกุลผู้เข้ารับการคัดกรอง เลื่อนแมสก์ปิดปากผู้รับการตรวจป้องกัน ถูกไอหรือจามใส่ แล้วค่อยๆ สอดไม้สวอบไปในรูจมูกค่อนข้างลึก เนื่องจากเชื้อฟักตัวอยู่ประมาณโพรงจมูก ด้านใน ค่อยๆ ปั่นไม้สวอบ เบาๆ ให้ได้น้ำมูกติดมา ก่อนนำไม้สวอบเก็บใส่หลอดอาหารเลี้ยงเชื้อไวรัส หรือ Viral Transportation Media (VTM) ปิดฝาให้สนิทและนำไปแช่น้ำแข็ง เพื่อส่งให้นักเทคนิคการแพทย์ที่ห้องปฏิบัติการตรวจหาสารพันธุกรรม ไวรัสโดยใช้วิธี RT-PCR
"เมื่อทำงานเสร็จในแต่ละวัน การถอดชุดพีพีอีก็ต้องปฎิบัติตามขั้นตอนอย่างเคร่งคัด รีบกลับไปอาบน้ำ หลีกเลี่ยงการเข้าไปบริเวณผู้คนเยอะ และแออัด สังเกตอาการตัวเองบ่อย ๆ ถ้ามีอาการรีบตรวจครับ ตัวผมเคยตรวจ มาแล้ว 2 ครั้ง ผลยังไม่พบเชื้อครับ" พงษ์พัฒน์ ย้ำถึงวินัยในการปฏิบัติตามกฎที่เหล่าจิตอาสาต้องจำให้ขึ้นใจ พร้อมกล่าวด้วยยิ้มละไมว่า
"เอาจริงผมไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแค่ว่าเมื่อมีโอกาสได้ช่วยเหลือสังคมหรือประเทศ ด้วยวิชาชีพของเรา นักเทคนิคการแพทย์ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ก็อยากทำให้เต็มความสามารถ ก็หวังให้สังคมร่วมมือกันรักษาสุขภาพ ใส่หน้า กาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ เพื่อห่างไกลจากโรคร้าย"
ส่วน ทนพญ.ศุภาวรรณ ยืนยันว่า หลักสูตรการเรียนการสอนบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เวลาออกมาปฎิบัติงานจริง ก็ได้ความรู้ติดตัวมาอย่างครบถ้วน
ทั้ง 3 บัณฑิต ยังฝากถึงน้องๆ เยาวชนที่ชื่นชอบการแพทย์ ชอบค้นคว้า ชอบห้องแล็บ ชอบช่วยเหลือชีวิตเพื่อน มนุษย์ว่า สามารถสมัครเรียนเทคนิคการแพทย์ ซึ่งสนุกไม่แพ้วิทยาศาสตร์สุขภาพด้านอื่นๆ เลย แถมยังรับราชการ ได้อีกด้วย
ด้าน ผศ.ดร.โชติช่วง พนโสภณกุล หัวหน้าภาควิชา วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า น่ายินดี ที่ศิษย์เก่าของทางคณะเป็นสมาชิกในโครงการ MT Heroes เกือบ 10 คน ประสบการณ์ที่ประเมินค่ามิได้ของกลุ่ม บัณฑิตรุ่นพี่ จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้นักศึกษารุ่นน้องได้เห็นถึงศักยภาพของนักเทคนิคการแพทย์ และที่สำคัญคือการเป็น นักเทคนิคการแพทย์ที่มีจิตอาสาเต็มเปี่ยมในหัวใจ ในการจะช่วยพัฒนาและยกระดับสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นฐาน ความคิด "ความรู้สู่ชุมชน" ที่ทางมหาวิทยาลัยส่งต่อให้นักศึกษาตลอดมา.