องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้คาดการณ์ไว้ว่าภายในปีพ.ศ.2573 จะมีประชากรโลกเสียชีวิตเนื่องจากการสูบบุหรี่ถึงปีละ 8 ล้านคน นอกจากนี้แผนควบคุมยาสูบแห่งชาติได้มีการตั้งเป้าหมายลดอัตราการสูบบุหรี่ทุกชนิดให้เหลือร้อยละ 15 ในปี พ.ศ.2568 ทั้งนี้เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรคเรื้อรัง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดสมอง
รองศาสตราจารย์ ดร.มณฑา เก่งการพานิช ภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการขับเคลื่อนครั้งใหญ่ในปี 2560 - 2563 ในโครงการ 3 ล้าน 3 ปีเลิกบุหรี่ทั่วไทยเทิดไท้องค์ราชัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ให้เหลือร้อยละ 15 โดยแพทย์ทางเลือกไทยได้ถูกนำมาเผยแพร่นานาวิธีธรรมชาติที่ช่วยเลิกบุหรี่โดยไม่ใช้ยา ทั้งการใช้ผลไม้รสเปรี้ยว และสมุนไพรไทยต่างๆ รวมทั้งการนวดกดจุดเท้าเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งได้มีการจัดอบรมนวดกดจุดเท้าช่วยเลิกบุหรี่ให้ทุกเขตสุขภาพ และแกนนำ หรือวิทยากรกลุ่มแรก ให้ทุกจังหวัดๆ ละ 10 คนเพื่อให้นำไปอบรมขยายผลเผยแพร่ต่อไป ซึ่งพบว่ามีการนำไปใช้ที่ยังไม่แพร่หลายด้วยอุปสรรคนานาประการ อาทิ ความพร้อมของบุคลากร ความแตกต่างของการนวด ดังนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.มณฑา เก่งการพานิช และทีมวิจัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำงานควบคุมยาสูบในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้พัฒนาเครื่องนวดเท้าช่วยเลิกบุหรี่ขึ้น ทั้งนี้หวังให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่าง
โจทย์ของการพัฒนานวัตกรรมเครื่องนวดเท้าช่วยเลิกบุหรี่ คือ ทำอย่างไรจึงจะได้เครื่องนวดเท้าที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ใช้งานง่าย เข้าถึงได้ง่าย และราคาถูก ซึ่งจากการลงพื้นที่ชุมชนเพื่ออบรมเผยแพร่วิธีการนวดเท้าช่วยเลิกบุหรี่ ให้แก่บุคลากรสาธารณสุข แพทย์แผนไทย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แกนนำ ตลอดจนผู้สนใจตามชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ยังไม่สามารถทำได้ครอบคลุมพื้นที่ หากแต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้มีการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์และการวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมเครื่องนวดเท้าช่วยเลิกบุหรี่ โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายภายในท้องถิ่น มาทำเป็นรองเท้านวดติดเซนเซอร์ เพื่อช่วยในการนวดกดจุดบริเวณนิ้งโป้งเท้า และได้มีการทดลองออกแบบตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องนวดกดจุดเท้าเพื่อเลิกบุหรี่ถึง 4 รุ่น และพัฒนามาเป็นลำดับ จากการใช้วัสดุที่เป็นรองเท้านวดจากรองเท้าปกติที่เป็นยางและผ้าที่ใส่กันอยู่ทั่วไป รองเท้านวดจากรองเท้าไม้แกะสลัก รองเท้านวดจากรองเท้าสาน มาจนถึงการใช้ตัวนวดเฉพาะนิ้วโป้ง ซึ่งสามารถควบคุมการใช้งานด้วยระบบสาย และต่อไปจะพัฒนาต่อยอดเป็นแผ่นนวดที่สะดวกต่อการใช้งาน และการพกพา และใช้ระบบไร้สายในการควบคุมการทำงาน
ซึ่งนวัตกรรมเครื่องนวดกดจุดเท้าเพื่อเลิกบุหรี่นี้ไม่ถือเป็นเครื่องมือแพทย์ โดยอุปกรณ์เสริมที่ใช้ตัวนำไฟฟ้ามาติดกับตัวรองเท้าในบริเวณนิ้วโป้งเท้า หรือแผ่นนวด ใช้กระแสไฟฟ้าเพียง 3 โวลต์ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ โดยกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น เกิดการผ่อนคลาย และกระตุ้นจุดรับรสชาติและความรู้สึกที่ทำให้รสชาติบุหรี่เปลี่ยน มีการมึนงง คลื่นไส้เวลาที่สูบบุหรี่ ซึ่งอาจต่อยอดนำไปประยุกต์ใช้ในการบำบัดการเสพติดอื่นๆ ได้ เช่น การเสพติดสุรา นวัตกรรมนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการช่วยเลิกบุหรี่ให้แก่ผู้สูบบุหรี่ที่อยากเลิกและต้องการตัวช่วย
นวัตกรรมนี้ได้เสนอเป็นโครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ และจะนำไปบูรณาการเพื่อใช้ในการส่งเสริมสุขภาวะของคนไทยในระดับนโยบายต่อไป ซึ่งจากการพัฒนานวัตกรรมโดยเอาประโยชน์ของปวงชนเป็นตัวตั้งนี้ ถือเป็นพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดลตามปณิธานแห่งการเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ที่สร้างสรรค์องค์ความรู้เพื่อสังคมและประเทศชาติ
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th