"ทรีนีตี้ วัฒนา" ท็อปฟอร์ม ไตรมาส 1 ปี 64 โชว์กำไร 66.70 ล้าน รายได้ซื้อขายหลักทรัพย์หนุน-กำไรและผลตอบแทนเงินลงทุน รายได้ดอกเบี้ย เติบโต มั่นใจไตรมาส 2 ยังสดใส ทุกธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง จ่อเป็นที่ปรึกษาขายไอพีโอ 7-9 บริษัท
ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทและบริษัทย่อยในเครือของบริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ TNITY มีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1 ปี 2564 จำนวน 66.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 163.19 % เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 105.56 ล้านบาท โดยในไตรมาสนี้บริษัทมีรายได้รวม 245.37 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17,752 % เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ (1.39) ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ จำนวน 135.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.49 % เมื่อเปรียบเทียบงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 124.09 ล้านบาท โดยเฉพาะรายได้จากนายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่ทำได้ 89.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.47 % รายได้จากดอกเบี้ย เงินให้กู้ยืมก็เพิ่มขึ้น 12.63 % มาอยู่ที่ 26.39 ล้านบาท จาก 23.43 ล้านบาท เป็นผลจากเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นระหว่างไตรมาสที่ 1 นี้ ส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมลดลงมาจาก 32.44 ล้านบาท เป็น 18.52 ล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรและผลตอบแทนจากเงินลงทุนรวม 68.67 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 พลิกจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนและผลตอบแทนจากเงินลงทุนรวม 164.09 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากดัชนีดิ่งแรงกว่า 600 จุด จากผลกระทบโควิด-19 ในไตรมาสที่ 1 ปีก่อน
ดร.วิศิษฐ์ กล่าวว่า ผลดำเนินงานที่ปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ดัชนีพุ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และอัดสภาพคล่องเข้าระบบกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีสภาพคล่องไหลเข้ามาลงทุนในตลาดทุนและสินทรัพย์เสี่ยง ต่าง ๆ ทั้งหุ้นและโภคภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเป็นเหตุให้ดัชนีพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวขึ้นจากสิ้นปี 2563 ที่ 1449.35 จุด มาอยู่ที่ 1,587.21 จุด ณ สิ้นเดือนมีนาคม หรือเพิ่มขึ้น 9.51% และปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดรวมขึ้นมาอยู่ที่ 96,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.92 % เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 66,901 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน นักลงทุนทั่วไปยังมีบทบาทสูงต่อการลงทุน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 47.3 % จาก 37.8 % เมื่องวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นักลงทุนกลุ่มอื่น ๆ ลดลง โดยนักลงทุนต่างชาติ ลดลงมาอยู่ที่ 34.7 % จาก 38.6 % ขณะที่พอร์ต บล.ลดลงมาอยู่ที่ 10.3 % จาก 11.4% ส่วนสถาบัน ลดลงมาอยู่ที่ 7.7 %จาก 12.2 %
ณ สิ้นงวดไตรมาสแรก บริษัทมีลูกหนี้เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ จำนวน 2,357.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2,204.08 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2563 และเงินลงทุนของบริษัทและบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีจำนวน 1,128.15 ล้านบาท คิดเป็น 19.14 % ของมูลค่าสินทรัพย์รวม เพิ่มขึ้นจากเมื่อสิ้นปี 2563 ที่มีจำนวน 912.35 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นเงินลงทุนชั่วคราวจำนวน 865.53 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 689.76 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2563 เงินลงทุนระยะยาวจำนวน 233.61 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 195.31 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2563 และเงินลงทุนในการร่วมค้า ซึ่งได้บันทึกโดยวิธีส่วนได้เสีย จำนวน 29.01 ล้านบาท
ดร.วิศิษฐ์ กล่าวว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ปี 2564 ยังคงมุ่งเน้นประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดำเนินธุรกิจโดยการกระจายรายได้ให้มีความหลากหลายไม่พึ่งพิงรายได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์เพียงอย่างเดียว สำหรับเป้าหมายในปีนี้มีดังนี้
- ธุรกิจหลักทรัพย์ : ตั้งเป้าสร้างส่วนแบ่งการตลาดให้อยู่ที่ระดับ 1.15% จากสิ้นปีก่อนที่ 1.05%
- ธุรกิจการจัดการกองทุนส่วนบุคคล : ตั้งเป้ามีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) เพิ่มเป็น 5 พันล้านบาท โดยที่จะมีการนำเสนอขายกองทุนที่ลงทุนในตราสารที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศให้กับลูกค้าเพิ่มเติม
- ธุรกิจวาณิชธนกิจและที่ปรึกษาทางการเงิน : ตั้งเป้านำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (IPO) ทั้ง SET และ MAI 7-9 บริษัท (กลุ่มธุรกิจพลังงาน เทคโนโลยีการสื่อสาร โลจิสติกส์ อาหาร และบันเทิง) โดยมี 2 บริษัท ที่ได้ประกาศแต่งตั้งทรีนีตี้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ไปแล้วก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1.บมจ.โคลเวอร์ เพาเวอร์ หรือ CV ผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจร 2. บมจ.เอเอ็มอาร์ เอเซีย หรือ AMR ดำเนินธุรกิจด้านวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อ ระบบไอทีโซลูชัน (System Integrator : SI) รวมถึงให้บริการงานดูแลรักษาและซ่อมบำรุงระบบเทคโนโลยีแบบครบวงจร และธุรกิจให้คำปรึกษาในการควบรวมกิจการ (M&A) และการร่วมทุนของบริษัทต่างๆ 4-5 ดีล
- การจัดจำหน่ายหุ้นกู้ : ตั้งเป้าเสนอขายหุ้นกู้เอกชนของธุรกิจสื่อสาร พลังงานทดแทน การเงิน และอสังหาริมทรัพย์ 4-5 ดีล