นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการความปลอดภัยทางชีวภาพ และการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 (Biosafety Level 3 laboratory) ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีพันธกิจบริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขในฐานะห้องปฏิบัติการอ้างอิง ทั้งนี้ ในการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อชันสูตรโรค ที่เกิดจากเชื้อโรคอันตราย จำเป็นต้องทำในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 ที่มีการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเข้มงวด ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องตรวจชันสูตรหาเชื้อก่อโรคโควิด-19 จำนวนมาก จึงมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ โดยการจัดอบรมครั้งนี้ขึ้น ผู้เข้ารับการอบรม คือ นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข สถาบันชีววัตถุ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 4 สระบุรี ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี และนักวิจัยจากสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล รวมจำนวนผู้เข้ารับการอบรม 33 คน โดยการอบรมมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความชำนาญเกี่ยวกับเทคนิคและระเบียบวิธีปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 เพื่อรองรับระบบการจัดการ ความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยชีวภาพ ตามพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื้อโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 เป็นเชื้อที่ก่อโรครุนแรง เช่น เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 เชื้อก่อโรคไข้หวัดนก เชื้อก่อโรคเอดส์ เชื้อก่อวัณโรค เป็นต้น ภายในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 จึงถูกปรับความดันให้น้อยกว่าข้างนอก ป้องกันไม่ให้อากาศภายในที่อาจปนเปื้อน เชื้อโรคอยู่ไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก กรณีถ้ามีรูรั่วเกิดขึ้นจะมีแต่อากาศจากภายนอกไหลเข้าสู่ภายใน และยังมีตัวกรองอากาศออก ซึ่งสามารถกรองได้แม้กระทั่งอนุภาคขนาดเล็กมาก เช่น เชื้อไวรัส นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติงานยังต้องต้องผ่านการอบรม มาอย่างดี สวมชุดปกป้องส่วนบุคคลที่เหมาะสม รวมถึงปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังอย่างเข้มงวด รอบคอบ ถูกวิธี องค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมาจึงรวมกันเป็นความปลอดภัย ให้ความมั่นใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนได้เป็นอย่างดี ว่าจะไม่มีเชื้อโรคอันตรายเล็ดลอดสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างแน่นอน