" ...เป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลง ด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน..."
ข้อความข้างต้น คือ วิสัยทัศน์ ของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. องค์กรวิจัยพัฒนาของประเทศ ในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีทิศทางขับเคลื่อนการดำเนินงานมุ่งสร้างให้องค์กรเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยพัฒนา ที่มีผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเร่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการทำงานร่วมกันสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงบูรณาการ โดยอยู่บนฐานของทรัพยากรชีวภาพ (Bio-based) เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทย ตอบสนองการขับเคลื่อนประเทศและเศรษฐกิจฐานราก ชุมชน และประชาชนเชิงพื้นที่ (Area based) สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำ
ตลอดระยะเวลา 58 ปี ในการดำเนินงานของ วว. นั้น ได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและพัฒนา ให้บริการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) แก่ ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs Startup พี่น้องเกษตรกร ที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์ สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับของผู้มาใช้บริการ เครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
วว. ดำเนินงาน ภายใต้ พันธกิจ ขององค์กร ดังนี้
ตัวอย่างความสำเร็จภายใต้กรอบการดำเนินงาน วทน. ของ วว. มีดังนี้
การสนองตอบนโยบาย BCG
เพื่อยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ พร้อมกระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วว. ประสบผลสำเร็จในการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ภาคการเกษตร และชุมชน ดำเนินงานสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงาน มีตัวอย่างผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ได้แก่
การพัฒนากระบวนการผลิตด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ได้แก่ นวัตกรรมน้ำตาลที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต "น้ำตาลพาลาทีน" ให้แก่ บริษัท น้ำตาลราชบุรี ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มีจำหน่ายในท้องตลาด กำลังการผลิต 60 ตันต่อปี มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10 ล้านบาทต่อปี และมีแผนการส่งออกในอนาคต
การพัฒนาสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำถิ่น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาสีฟันตรีผลา มีประสิทธิภาพสูงดูแลสุขภาพเหงือก ช่องปาก ฟันแข็งแรง มีมูลค่าการตลาดประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี และต่อยอดผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเส้นผมจากสมุนไพรตรีผลา เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด โดย วว. ทดสอบคุณภาพและประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนในจังหวัดน่านเป็นผู้ผลิตสารสกัดสมุนไพรส่งให้บริษัทไลอ้อนฯ นอกจากตรีผลาแล้วยังมีสมุนไพรอัตลักษณ์อื่นๆ เช่น ใบหมี่ และมะไฟจีน เป็นต้น
การพัฒนาไบโอเมทานอลจากวัสดุเหลือทิ้ง เพื่อต่อยอดการสร้างโรงงานไบโอเมทานอลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย โดยปัจจุบัน บริษัท BLCP เป็นพันธมิตรภาคเอกชนที่นำผลงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการของ วว. ไปขยายผลและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดการนำเข้าเมทานอลจากต่างประเทศ 100 %
สารชีวภัณฑ์ วว. ผลิตจากจุลินทรีย์สำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม ไม่มีสารพิษตกค้าง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต "สารชีวภัณฑ์" ในจังหวัดภาคกลางตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และอยุธยา ทำให้ลดต้นทุนเกษตรกรได้ 172.5 ล้านบาท และลดการนำเข้าสารเคมีเกษตรประมาณ 241.5 ล้านบาท
การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไม้ดอกไม้ประดับ วว. นำร่องโครงการในพื้นที่จังหวัดเลย สามารถรวมกลุ่มผู้ประกอบการจำนวน 124 กลุ่มเป็นคลัสเตอร์ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 90 ล้านบาทต่อปี ขณะนี้ วว. บูรณาการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเลยดำเนินการจัดตั้ง "มาลัยวิทยสถาน" เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยสถานแห่งปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและผลิตภัณฑ์
วว. เป็น Total Solution ให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ
เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งให้บริการวิจัยและพัฒนาแก่ OTOP วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs Startup ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มมูลค่า ช่วยแก้ไขปัญหาในการประกอบการด้วย วทน. นั้น วว. มีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นกลไกสำคัญ อีกทั้งยังให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ และรับรองคุณภาพ ที่ได้มาตรฐานสากล ผ่านการดำเนินงานโดยห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการทดสอบด้านระบบขนส่งทางรางที่ได้มาตรฐานสากล ให้บริการสนับสนุนโครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง แก่ผู้ประกอบการในประเทศและภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ วว. ให้บริการภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 150,000 รายการต่อปี มีจำนวนลูกค้ามากกว่า 3,000 คน ช่วยผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายในการส่งตัวอย่างไปทดสอบต่างประเทศได้มากกว่า 50%
ความสำเร็จในการนำ วทน. เพื่อชุมชน : STI for Area Based
จากการดำเนินงานของ วว. ที่มุ่งเน้นตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ (area based) ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการยกระดับโอทอปในพื้นที่ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไม้ดอกไม้ประดับ โครงการ Big rock เป็นต้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบของรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนามากกว่า 300 ล้านบาทต่อปี
ความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) เข้าไปแก้ไขปัญหา
วว. นำ วทน. ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม โดยเป็นเทคโนโลยีที่มีรูปแบบและเงื่อนไขในการใช้งานที่สอดคล้องกับบริบทในการใช้งานจริง ทั้งในด้านต้นทุนและความซับซ้อนของเทคโนโลยี ตลอดจนความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ภาพรวมการดำเนินงานตามภารกิจหลักและโครงการสำคัญต่างๆ ของ วว. นั้น สามารถผลักดันผู้ประกอบการที่นำผลงานวิจัย พัฒนา และบริการ ของ วว. ไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และสังคม คิดเป็นมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี
บทบาทของ วว. ในสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19
ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ วว. นำความเชี่ยวชาญด้าน วทน. เข้าไปช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ ดังนี้ 1.เปิดรับสมัครบุคลากรสนองนโยบายรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาว่างงาน ภายใต้ "โครงการ อว. สร้างงาน" จำนวนกว่า 270 อัตรา 2.บริการทดสอบและปรับปรุงระบบห้องความดันลบ (Negative pressure) ณ โรงพยาบาลศิริราช ในการเปิดให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ 3.ออกบทเฉพาะกาล ร่วมควบคุม ป้องกัน การแพร่กระจายเชื้อ ในกิจกรรมการตรวจประเมิน รับรองระบบบริหารจัดการตามมาตรฐานคุณภาพ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ 4.ให้บริการทดสอบหน้ากากอนามัย รองรับความต้องการภาคอุตสาหกรรมเทียบเท่ามาตรฐานต่างประเทศ ช่วยเสริมแกร่งและลดต้นทุนในการผลิตของภาคอุตสาหกรรม 5.สนับสนุนงานโรงพยาบาลสนามของกระทรวง อว. ด้วยการบริจาคเงิน เจลล้างมือแอลกอฮอล์ และหน้ากาก N 95 นอกจากนี้ในการระบาดระยะแรก ยังได้แจกเจลแอลกอฮอล์ผลงานวิจัยของ วว. ส่งไปช่วยเหลือพี่น้องชาวจีนและแจกให้กับพี่น้องชาวไทย กว่า 4,000 หลอด รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ วทน. ซึ่งพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ นำไปเป็นอาชีพเสริมและอาชีพหลักสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่ครอบครัวในระยะยาว
ทิศทางการดำเนินงานในอนาคตของ วว.
วว. มีศักยภาพและความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร องค์ความรู้ เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนผลงานและประสบการณ์ในด้านการวิจัยและพัฒนา วทน. ก้าวต่อไปในอนาคตของ วว. นั้น ยังคงยึดมั่นและให้ความสำคัญกับการนำ วทน. เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศ มุ่งดำเนินงานสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างครบวงจร (Total Solution) พัฒนาวิสาหกิจในทุกระดับ ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ (Area Based) ด้วยนวัตกรรมพร้อมใช้ ตลอดจนร่วมกับสถาบันการศึกษาในการยกระดับความรู้ให้แก่ ประชาชน เยาวชน นักศึกษา โดยส่งเสริมให้ วทน. เป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ในการนำ วทน. เข้าไปเสริมแกร่งการดำเนินงาน การประกอบธุรกิจ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน พร้อมทั้งสนองนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วย วทน.
"ครบรอบปีที่ 58 ของ วว." จะเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่จะผลิตผลงานซึ่งสามารถตอบโจทย์ของสังคม ประเทศชาติ รวมทั้งพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่องค์กรมีความเชี่ยวชาญให้สำเร็จเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงครอบคลุมพื้นที่กลุ่มเป้าหมายและกระจายไปสู่กลุ่มอื่นๆ ดังที่ วว. ประสบผลสำเร็จมาแล้ว