ธนาคารไทยพาณิชย์รับรางวัลรายงานความยั่งยืนดีเด่น (Asia's Best Sustainability Report - Standalone) ระดับ Bronze จากเวที Asia Sustainability Reporting Awards (ASRA) ครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติในระดับสากลด้านการจัดทำรายงานขององค์กร สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน พร้อมยกระดับการจัดทำรายงานความยั่งยืนปี 2563 สู่รูปแบบดิจิทัลทั้งหมด นับเป็นธนาคารแห่งแรกในประเทศที่จัดทำรายงานความยั่งยืนในรูปแบบดิจิทัล
นายเสถียร เลี้ยววาริณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ส่งรายงานความยั่งยืนประจำปี 2562 เข้าร่วมประกวดในเวที ASRA เป็นปีแรก และภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลรายงานความยั่งยืนดีเด่น (Asia's Best Sustainability Report - Standalone) ระดับ Bronze จากเวที Asia Sustainability Reporting Awards (ASRA) ครั้งที่ 6 โดยรายงานความยั่งยืนของไทยพาณิชย์ดำเนินการตามมาตรฐานสากล Global Reporting Initiative (GRI) ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงความก้าวหน้าในการบริหารจัดการประเด็นความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รายงานความยั่งยืนไม่เพียงสื่อสารผลการดำเนินงานเปรียบเทียบกับความมุ่งมั่นหรือเป้าหมายของธนาคารให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนรับทราบเท่านั้น ยังเป็นสื่อกลางสร้างความเชื่อมั่นระหว่างธนาคารและลูกค้า คู่ค้าธุรกิจ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสีย ให้รับรู้ว่า ธนาคารมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจบนเส้นทางความยั่งยืนอีกด้วย
นายเสถียร กล่าวว่า ธนาคารไม่หยุดนิ่งในการพัฒนากลยุทธ์การบริหารจัดการและการจัดทำรายงานความยั่งยืน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้นและคุณค่าร่วมให้กับผู้มีส่วนได้เสีย โดยรายงานความยั่งยืนปี 2563 ที่ธนาคารจะนำเข้าร่วมพิจารณารางวัลต่อเนื่องในงาน ASRA ครั้งที่ 7 ยังได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มสู่รายงานในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด เพื่อให้สอดรับกับวิถีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการลดการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในกระบวนการดำเนินงานตามแนวทางความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นธนาคารแห่งแรกและบริษัทรายแรกๆ ในประเทศไทยที่จัดทำรายงานความยั่งยืนในรูปแบบดิจิทัล
"ไทยพาณิชย์ ตระหนักถึงบทบาทการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและรักษาดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว จึงได้กำหนดให้ความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กร ซึ่งธุรกิจการเงินการธนาคารมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการระดมเงินทุนและจัดสรรทรัพยากรไปสู่ภาคเศรษฐกิจและสังคม โดยธนาคารมีเป้าหมายในการส่งเสริมการให้บริการด้านการเงินที่ยั่งยืน บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเติบโตอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเปลี่ยนผ่านไปสู่ 'เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ' หรือ Low-Carbon Economy ด้วยกัน รวมถึงการเสริมสร้างความเท่าเทียมในสังคมที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth)" นายเสถียร กล่าว
ด้านนายราเจส ชาบารา กรรมการผู้จัดการ CSRWorks International และเป็นผู้ก่อตั้ง ASRA กล่าวว่า "รายงานความยั่งยืนของ SCB แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำในการรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่มีความโปร่งใส และสะท้อนถึงความพร้อมต่อการปรับตัวเพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต"
อนึ่ง รายงานความยั่งยืนของ SCB เป็น 1 ในรายงานความยั่งยืน 494 ฉบับ จาก 17 ประเทศ ใน 19 สาขารางวัลที่เข้าร่วมรับการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการได้คัดเลือกให้ 102 บริษัท จาก 14 ประเทศเข้ารอบสุดท้าย โดยมีบริษัทที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 40 แห่ง ซึ่งรางวัลรายงานความยั่งยืนดีเด่น มอบให้กับรายงานที่มีความโดดเด่นในการนำเสนอกลยุทธ์ ความมุ่งมั่นของผู้นำองค์กร การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเปิดเผยประเด็นด้านความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญพร้อม แนวทางการบริหารจัดการ ผลการดำเนินงาน รวมถึงผลลัพธ์จากการบริหารจัดการประเด็นต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงผลกระทบที่มีนัยสำคัญของธุรกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย