ม.มหิดล ชี้แนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เน้นประโยชน์สุขภาพ

ข่าวทั่วไป Thursday May 27, 2021 08:12 —ThaiPR.net

ม.มหิดล ชี้แนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เน้นประโยชน์สุขภาพ

วันที่ 1 มิถุนายน ของทุกปี องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FOA) กำหนดให้เป็น "วันดื่มนมโลก" เพื่อรณรงค์ให้ประชากรโลกเห็นถึงความสำคัญของการดื่มนม ซึ่งถือเป็นอาหารที่เป็นพลังชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่กำเนิด

เป็นที่ทราบกันดีว่า นมมีประโยชน์มากมาย สามารถเลือกบริโภคได้ในหลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาการย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม ซึ่งพบเกินกว่าครึ่งหนึ่งของคนไทย โดยมีอาการถ่ายเหลว ไม่สบายท้อง และท้องอืด ก็สามารถเลือกดื่มนมปราศจากน้ำตาลแลคโตส (Lactose-free milk) ได้ โดยที่ผ่านมา สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยในเรื่องดังกล่าวเป็นที่แรกๆ ในประเทศไทย และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนบางราย จนในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ลักษณะดังกล่าวมีจำหน่ายอย่างแพร่หลายในท้องตลาด

เช่นเดียวกัน การรับประทานนมเปรี้ยว หรือโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีปัญหากับการรับประทานนม

รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึง โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ว่า คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิต และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยทั่วไปจะต้องมีจำนวนขั้นต่ำหนึ่งล้านเซลล์ต่อกรัมในผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาหารโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ที่รู้จักกันดี ได้แก่ นมเปรี้ยว หรือผลิตภัณฑ์นมหมักอื่นๆ นั่นเอง

ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ต่างจากผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ซึ่งเป็นสารที่ส่วนใหญ่มาจากพืช พอรับประทานเข้าไปแล้วจะถูกย่อยด้วยจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ของเรา ซึ่งจะเติบโตได้มากขึ้น และผลิตสารที่ดีต่อสุขภาพขึ้นภายในลำไส้ของเรา

การรับประทานนมเปรี้ยว หรือโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการรับประทาน หากต้องการควบคุมดูแลน้ำหนัก อาจเลือกนมเปรี้ยว หรือโยเกิร์ตรสธรรมชาติไขมันต่ำ (low fat) และอาจดูได้จากสัญลักษณ์ "ทางเลือกสุขภาพ" ซึ่งสามารถใช้ในการช่วยเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม หรือเกลือในปริมาณสูง

รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โพรไบโอติกส์ (Probiotics) จะเกิดประโยชน์ต่อร่างกายสูงสุด หากใช้จุลินทรีย์ที่ทดสอบแล้วว่าปลอดภัย และมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพที่ชัดเจน ซึ่งในประเทศไทย จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) โดยมากที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่า การเก็บรักษาจุลินทรีย์ที่มีชีวิตด้วยการแช่แข็งต้องใช้ต้นทุนสูง และการผลิตจุลินทรีย์แบบผง แม้จะง่ายต่อการเก็บรักษา ขนส่ง และนำไปใช้งาน แต่ทำให้ได้จุลินทรีย์ที่มีชีวิตน้อยลง ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายสำหรับนักวิจัยด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ของไทยว่าจะทำอย่างไรให้สามารถผลิตจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ได้เองภายในประเทศ ในรูปแบบผงซึ่งมีจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในจำนวนมากพอที่จะนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารโพรไบโอติกส์ (Probiotics)

"ผลิตภัณฑ์อาหารโพรไบโอติกส์ (Probiotics) กำลังเป็นที่สนใจของตลาดผู้บริโภคที่เน้นเรื่องสุขภาพ ซึ่งพบว่ายังมีช่องว่างทางการตลาดอยู่มากในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต นอกจากนี้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มักติดขัดในเรื่องประโยชน์ในเชิงสุขภาพที่ต้องมีผลงานการศึกษาวิจัยในคนซึ่งพิสูจน์และอ้างอิงได้ สำหรับการขออนุญาตกล่าวอ้างประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งยังพบอุปสรรคจากการไม่คุ้นเคยของผู้บริโภคในเรื่องรสชาติ ตลอดจนคุณภาพระหว่างการเก็บรักษา ฯลฯ ซึ่ง สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิ เครื่องมือ และองค์ความรู้ ให้บริการประชาชนที่สนใจ ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) และหน่วยวิจัยที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังพร้อมก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในการที่จะศึกษา วิจัย และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดี ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติ" รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ