นายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้นายพิชัย มณีลาภ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน ร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." แปลงนายวัชรินทร์ ใจชื่น หมู่ที่ 5 บ้านควนไทร ตำบลท่าโรงช้าง อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแปลง HLM ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งได้ดำเนินการขุดสระเก็บน้ำ หลุมขนมครก คลองไส้ไก่ ปั้นคันนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยใช้รูปแบบแปลงที่กำหนดเองตามหลักภูมิสังคม "จากแบบในกระดาษ วาดฝันลงพื้นดิน"กิจกรรมในวันนี้เป็นกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชนผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life :HLM) การเอามื้อสามัคคีแลกเปลี่ยนแรงงานพัฒนาพื้นที่ อันจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญจากบุคคลสู่บุคคล การช่วยเหลือเกื้อกูลกันของประชาชนในชุมชน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ตลอดจนเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอและผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีกด้วย
วันนี้ เป็นการจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีครั้งแรกของของแปลง ได้ถือฤกษ์ในช่วงวันสำคัญคือวันต้นไม้แห่งชาติประจำปี 2564 โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แก่ เจ้าของแปลงนายวัชรินทร์ ใจชื่น นายสมพร ใจชื่น ผู้ใหญ่บ้านบ้านควนไทร นางสาวสุธาสินี ญาโน นางกณิต คงวุฒิ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ(นพต.)ตำบลท่าโรงช้าง และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบจากทุกตำบลในอำเภอพุนพิน นอกจากนั้นยังมีนักพัฒนารัฐบาลดิจิทัล(นพร.)อำเภอพุนพิน พร้อมเพื่อนบ้าน และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอพุนพิน รวมทั้งสิน 25 คน โดยได้ทำการปลูกต้นไม้เพื่อใช้สอยชนิดต่างๆในพื้นที่ป่า 5 ระดับได้แก่ พยุงไทย 9 ต้น พยุงไหหลำ 9 ต้น มะฮอกกานี 9 ต้น ไม้แดง 9 ต้น มะม่วงหิมพานต์ 19 ต้น หมาก 40 ต้นกล้วยไข่ 20 ต้น สับปะรด 100 ต้น ไผ่กิมซุง 15 ต้นหญ้าแฝก 2,000 กล้า
เสร็จจากการเอามือได้ร่วมรับประทานอาหารพื้นถิ่นวิถีชาวไร่ ข้าวห่อใบตองน้ำพริกปลาทู ผักกูดลวกอิ่มอร่อยกันถ้วนหน้าที่เดียว วันนี้เป็นการสร้างความรักความผูกพันของผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้เป็นอย่างดี เป็นการเริ่มต้นปลูกพืชผักสร้างความมั่นคงทางอาหารของครัวเรือน และจะเกิดการแบ่งปันทางอาหาร แบ่งปันองค์ความรู้ แบ่งปันแรงในการเอามื้อสามัคคีในแปลงอื่นอีกด้วย อีกทั้งจะเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช."ที่ดีต่อไป