กระทรวงดิจิทัลฯ แนะ 6 วิธีรู้เท่าทันและสังเกตข่าวปลอม เตือนใครโพสต์-แชร์ต่อ ระวังโทษคุกสูงสุด 5 ปี
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลในโลกออนไลน์มีมาก การรับและส่งข้อมูลข่าวสารสามารถทำได้หลากหลายช่องทาง และรวดเร็ว โดยเฉพาะช่องทางอินเทอร์เน็ต ที่มีความสะดวกในการรับและส่งข่าวสารต่อ ๆ กัน ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นช่องทางหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน หรือผู้อยู่เบื้องหลังที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากความตื่นรับข้อมูลข่าวสารของประชาชน ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด และอาจทำให้เกิดสถานการณ์ปั่นป่วนตามมา
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะช่วยกันสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชน ได้รู้เท่าทันข่าวปลอม รวมถึงป้องกันการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ที่บิดเบือน และรู้วิธีสังเกตข่าว เพื่อไม่ให้โดนหลอก โดยมีข้อแนะนำ 6 วิธีรู้เท่าทันและสังเกตข่าวปลอม ดังนี้ 1. ข่าวต้องมีความน่าเชื่อถือ มีแหล่งอ้างอิงที่มาชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ 2. สังเกตการเรียบเรียงเนื้อข่าว และการสะกดคำต่าง ๆ เพราะข่าวปลอมมักจะสะกดผิด และมีการเรียบเรียงที่ไม่ดี 3. สังเกตยูอาร์แอล (URL) ให้ดี โดยข่าวปลอมอาจมี URL คล้ายเว็บของสำนักข่าวจริง 4. ดูรายงานข่าวจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ ว่ามีข่าวแบบเดียวกันหรือไม่ โดยมีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ 5. ตรวจสอบข่าวจากการเสิร์ชหาข้อมูล อาจพบว่าเป็นข่าวเก่า หรือพบการแจ้งเตือนจากเว็บไซต์อื่นว่าเป็นข่าวปลอม และ 6. ข่าวปลอมอาจมีการนำรูปภาพจากข่าวเก่ามาใช้ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ
"อยากเน้นย้ำว่าผู้ผลิตข่าวปลอม บิดเบือน และนำเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพ์ มาตรา ๑๔ ทั้งในเรื่องข้อมูลเท็จ บิดเบือน ปลอมแปลง ทำให้ประชาชนตื่นตะหนก หรือกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากข้อมูลนั้นทำให้บุคคล องค์กร หน่วยงาน เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ยังอาจได้รับโทษใน ความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และที่ห่วงใยประชาชนในช่วงเกิดสถานการณ์วิกฤตนี้ จะต้องพึงระวังในการจะแชร์ หรือส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 มาตรา 9 (3) กำหนดว่า ห้ามผู้ใดเสนอข่าว มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร หรือมีข้อความอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือทั่วราชอาณาจักรมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" นางสาวอัจฉรินทร์กล่าว
ดังนั้น ทุกครั้งที่ผู้บริโภคสื่อหรือผู้ใช้โซเชียลมีเดีย พบข่าวที่มีการแชร์ต่อๆ กันมา จึงไม่ควรเชื่อทันที ควรใช้หลักสังเกตและปฏิบัติตาม 6 วิธีข้างต้นก่อนส่งต่อข่าวนั้นๆ แต่อย่างไรก็ตามจากข้อสังเกตทั้งหมดอาจบอกไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าข่าวนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ผู้บริโภคสื่อทุกคนจึงควรมีภูมิคุ้มกันตนเองในการรับข่าวสารข้อมูล ตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ หรือแจ้งเบาะแสข่าวที่น่าสงสัย มายังช่องทางของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ผ่านช่องทาง เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ช่องทาง Facebook: Anti-Fake News Center ช่องทาง Twitter @AfncThailand ช่องทางLine@antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 เพื่อหลีกเลี่ยงจากการเป็นเหยื่อข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน