นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบว่า มีแนวโน้มทวงตัวในระดับต่ำ เนื่องจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จะเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ในภูมิภาคเอเชียยังคงมีความรุนแรง โดยหลายประเทศ อาทิ อินเดีย ไต้หวัน สิงคโปร์ และไทย มีการบังคับใช้มาตรการจำกัดการเดินทางหรือมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในระยะสั้นอาจจะลดลง
ภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก (วันที่ 17- 23 พฤษภาคม 2564) ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 65.96 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 64.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.05 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 0.92 ต่อเหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ โดยได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเอเชียที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสิงคโปร์ ไต้หวัน และอินเดีย ที่ประกาศใช้มาตรการเข้มงวดทางสังคมอีกครั้ง ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับการส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ชะลอตัวหลังสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (SII) ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลกชะลอการส่งออกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปจนถึงเดือน ต.ค. 64
สำหรับปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยอิหร่านเผยว่าการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านมีความคืบหน้ามาก ส่งผลให้คาดการณ์ว่า ในเร็วนี้ สหรัฐฯ จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านและทำให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันดิบมากขึ้น อีกทั้งยังมีความกังวลสถานการณ์ค่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ หลังตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งถูกใช้เป็นดัชนีชี้วัดภาวะเงินเฟ้อของประเทศสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นเกินกว่าที่นักวิเคราะห์คาด ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน และส่งผลให้มีอุปทานน้ำมันดิบเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันอาจจะเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันที่เริ่มฟื้นตัวจากการคลายมาตรการล็อคดาวน์ในยุโรปและสหรัฐฯ และการคาดการณ์ว่าบริษัทโคโลเนียล ไปป์ ไลน์ (Colonia Pipeline) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ จะสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดความกังวลในการขาดแคลนน้ำมันสำเร็จรูปบริเวณฝั่งตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ประกอบกับศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติของสหรัฐคาดว่า อาจจะเกิดพายุดีเปรสชัน หรือพายุโซนร้อนในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งจะกระทบการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ได้
ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชีย
ราคาน้ำมันเบนซิน:
ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ย อยู่ที่ระดับ $75.20, $73.48 และ $74.53 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว $0.45, $0.56 และ $0.60 ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
- ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในเอเซีย ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะมาเลเซียและเวียดนาม
- International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 พ.ค. 64 เพิ่มขึ้น 0.18 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.56 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์
- Platts รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ Fujairah Oil Industry Zone (FOIZ) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ค. 64 เพิ่มขึ้น 0.13 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 6.122 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันดีเซล:
ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $74.00 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว $0.38 ต่อบาร์เรล
- ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในสหภาพยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์
- IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 พ.ค. 64 ลดลง 0.36 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.59 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์
ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.20 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 31.5872 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.01 บาท/ลิตร ขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.17 บาท/ลิตร ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.22 บาท/ลิตร
ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 23 พ.ค. 64 กองทุนน้ำมันมีสินทรัพย์รวม 52,278 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 32,531 ล้านบาท ทั้งนี้ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 19,747 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 32,407 ล้านบาท และบัญชี LPG -12,660 ล้านบาท