เพิ่มอัตราความสำเร็จในการทำ IVF ด้วยการตรวจคัดกรองโครโมโซม

ข่าวทั่วไป Friday May 28, 2021 16:28 —ThaiPR.net

เพิ่มอัตราความสำเร็จในการทำ IVF ด้วยการตรวจคัดกรองโครโมโซม

แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาผู้มีบุตรยากได้มีความก้าวหน้าและมีหลากหลายแนวทาง ซึ่งหนึ่งในวิธียอดนิยมคือการทำเด็กหลอดแก้ว IVF (In-vitro Fertilization) แต่อย่างไรก็ตามยังมีคู่สมรสจำนวนไม่น้อยที่ไม่ประสบผลสำเร็จจากการทำ IVF ซึ่งหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่อาจทำให้ไม่ประสบความสำเร็จคือ คุณภาพของตัวอ่อนที่แบ่งตัวไม่สมบูรณ์ หรือเกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมจึงทำให้ภาวะครรภ์ไม่สมบูรณ์

นพ. สมเจตน์ มณีปาลวิรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลเจตนิน ให้ข้อมูลว่า การรักษาผู้มีบุตรยากในปัจจุบัน มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการตรวจวิเคราะห์โรคทางพันธุกรรมและความผิดปกติของโครโมโซมในตัวอ่อนก่อนที่จะทำการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก และเทคโนโลยีนี้ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากเป็นการเพิ่มโอกาสความสำเร็จของการตั้งครรภ์ที่มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ลดความเสี่ยงจากการแท้งอันเนื่องมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม

การตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อน หรือ PGT-A (Preimplantation Genetic Testing for Aneuploidy) นับว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้การทำ IVF ประสบความสำเร็จ ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้บุตรที่ร่างกายปกติสมบูรณ์ และลดความเสี่ยงจากการแท้งอันเนื่องมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม

การตรวจคัดกรองโครโซมตัวอ่อนช่วยเพิ่มความสำเร็จในการตั้งครรภ์อย่างชัดเจนในคู่แต่งงานที่ฝ่ายหญิงมีอายุ 35 ปีขึ้นไป ผู้ที่เคยล้มเหลวจากการทำ IVF ผู้ที่เคยมีประวัติการแท้งมาแล้วหลายครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ และผู้ที่เคยมีประวัติคลอดบุตรที่มีโครโมโซมผิดปกติ

NGS (Next Generation Sequencing technology) เป็นเทคโนโลยีที่นิยมนำมาใช้ในการตรวจ PGT-A แค่เพียงนำเซลล์จากตัวอ่อนเพียงเล็กน้อยออกมาตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของโครโมโซม ก็สามารถตรวจสอบโครโมโซมได้ทั้งหมดในคราวเดียวภายในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งยังให้ผลการวิเคราะห์ที่มีความละเอียดและแม่นยำสูง สามารถมองเห็นความผิดปกติของโครโมโซมได้แม้จะเป็นเพียงชิ้นส่วนขนาดเล็ก และยังมั่นใจได้ว่าผลที่ได้มีความถูกต้องสูงถึง 97-99 %

"การตรวจคัดกรองโครโมโซมด้วยเทคโนโลยี NGS สามารถลดความเสี่ยงจากการแท้งและความผิดปกติของทารกที่เกิดจากภาวะโครโมโซมที่มีจำนวนผิดปกติ โดยในแต่ละเซลล์ของตัวอ่อนประกอบด้วยโครโมโซมทั้งหมด 23 คู่ หรือ 46 แท่ง การเพิ่มหรือขาดหายของโครโมโซมบางแท่งหรือเพียงแค่บางส่วนนั้น ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนอาจส่งผลให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวที่ผนังมดลูก ฝังตัวแล้วแท้ง หรือคลอดมาเป็นเด็กที่มีความผิดปกติ เสี่ยงต่อความบกพร่องทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา ดังนั้น การคัดเลือกเอาตัวอ่อนที่มีโครโมโซมปกติ ในการใส่กลับจึงเป็นการช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว ให้คุณพ่อ คุณแม่มั่นใจได้ว่าจะได้บุตรที่ปกติมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง" นพ. สมเจตน์ กล่าว

นพ.สมเจตน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนการทำ PGT-A จะเกิดขึ้นในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตในระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) หรือตัวอ่อนที่ปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการมาแล้วประมาณ 5-6 วัน นักวิทยาศาสตร์จะทำการดึงเซลล์รอบนอกจากตัวอ่อนเพียงเล็กน้อยเพื่อนำไปใช้วิเคราะห์สารพันธุกรรม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของตัวอ่อนและไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ที่จะพัฒนาไปเป็นทารก โดยตัวอ่อนที่มีโครโมโซมปกติจะถูกตรวจคัดเลือกก่อนการย้ายฝังตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกต่อไป หรือสามารถเลือกแช่แข็งเฉพาะตัวอ่อนที่มีจำนวนโครโมโซมปกติเก็บไว้สำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคตได้เช่นกัน

ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนที่โรงพยาบาลเจตนินให้บริการอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เฉพาะทาง และนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ดำเนินการภายในห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพสูงของเจตนินเอง มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ผู้ใช้บริการจึงมั่นใจได้ว่าจะได้รับผลการตรวจที่มีความถูกต้องแม่นยำ รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-655-5300 


แท็ก โครโมโซม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ