วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้เป็น"วันสิ่งแวดล้อมโลก" ซึ่ง 1 ในเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คือ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิกาศ (Climate change) ที่มีความแปรปรวนและร้อนขึ้นจนประชากรโลกต้องปรับตัวกันอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็ต้องรับมือกับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้นำการศึกษาและวิจัยโรคเขตร้อนระดับภูมิภาคเอเชีย โดยอาจารย์ ดร. นายแพทย์สัณฑ์ ม่วงน้อยเจริญ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ได้แสดงความห่วงใยประชาชนที่ต้องรับมือกับปัญหาวิกฤติ COVID-19 ในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูฝนว่า ถึงแม้ยังไม่มีรายงานว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ประชาชนก็ไม่ควร "การ์ดตก" ซึ่งความเปียกชื้นในช่วงฤดูฝนจะทำให้เชื้อไวรัส COVID-19 อยู่บนพื้นผิวได้นานขึ้น จึงควรระวังมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการสัมผัสต่อเชื้อโดยหลีกเลี่ยงการที่จะต้องไปอยู่ในที่แออัด และไม่ละเลยที่จะล้างมือ และใส่หน้ากากอนามัยป้องกันอยู่เสมอเวลาที่ไม่ได้อยู่เพียงคนเดียว ทั้งในบ้าน และนอกบ้าน ตลอดจนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน
อาจารย์ ดร. นายแพทย์สัณฑ์ ม่วงน้อยเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่ละบุคคลมีความจำเป็นและเหมาะสมต่อการเข้ารับการฉีดวัคซีน COVID-19 ที่แตกต่างกัน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน ซึ่ง "กลุ่มเสี่ยง" ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด โรค NCDs (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) รวมถึงกลุ่มที่เป็นโรคอ้วน จะเป็นกลุ่มที่ถ้าติดเชื้อ COVID-19 แล้วจะมีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป แต่อาจฉีดได้ในรายที่สามารถควบคุมอาการได้ดี
อาจารย์ ดร. นายแพทย์สัณฑ์ ม่วงน้อยเจริญ ได้กล่าวถึงกรณีห้ามฉีดวัคซีน COVID-19 ว่าได้แก่ ผู้ที่มีประวัติการแพ้วัคซีนรุนแรงมาก่อน ซึ่งจะมีอาการหลายระบบ ได้แก่ อาการทางระบบผิวหนัง เช่น ผื่น คัน ลมพิษ ร่วมกับอีกอย่างน้อย 1 อาการระบบ ได้แก่ อาการระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่นหน้ามืด หมดสติ ความดันโลหิตต่ำ หรืออาการระบบทางเดินหายใจ เช่น เหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด หรืออาการระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งหากมีประวัติแพ้วัคซีนรุนแรง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีด
โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน พร้อมให้บริการประชาชนโดยคำนึงถึงการปฏิบัติตามมาตรการ
รักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCOVID-19 ที่เชื่อมั่นได้ว่าปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยได้มีการจัดระบบการนัดหมายเพื่อลำดับผู้ป่วยที่มาเข้ารับบริการซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความแออัด ทั้ง
บริเวณที่พักคอย ที่รอพบแพทย์ และรอรับยา พร้อมทั้งมีการจัดวางเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือฆ่าเชื้อโรคในทุกจุดบริการ รวมทั้งมีการทำความ
สะอาดพื้นผิวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปุ่มกด ราวประตู ราวบันไดลิฟท์ หรือบริเวณที่จะต้องมีการสัมผัส ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุก 1 ชั่วโมง อีกทั้งให้ผู้ที่มารับบริการทุกคนใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการจะใส่ทั้งหน้ากากอนามัย และ face shield ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันที่เพิ่มขึ้น
"สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate change) และฤดูฝนที่กำลังจะเข้ามา ยังมีโรคอื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวังไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 คือ โรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ รวมถึงโรคที่เกิดจากอาหารการกิน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษ และอื่นๆ อีกหลายโรค จึงอยากให้ประชาชนรักษาสุขภาพให้ดี หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์" อาจารย์ ดร. นายแพทย์สัณฑ์ ม่วงน้อยเจริญ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามเรื่องการเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ได้ที่ โทร. 0-2354-9100 ถึง 4 ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th