นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยตรวจเยี่ยมและพบปะกลุ่มผู้เลี้ยงโคบ้านโนนสูง ต.โนนสูง อ.ยางลาด จ.กาฬสินธุ์ และกลุ่มผู้เลี้ยงโคบ้านหนองเม็ก ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ เพื่อรับฟังปัญหาและมอบสิ่งของเวชภัณฑ์/ยาฆ่าแมลง และชมการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ตลอดจนให้กำลังใจกับเกษตรกร พร้อมด้วย นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ เกษตรกร เข้าร่วม
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมป้องกันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฯ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์อย่างมาก ได้กำชับให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ตนในฐานะกำกับดูแลกรมส่งเสริมสหกรณ์ซึ่งมีสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้เฝ้าระวังโรคในพื้นที่พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับ จ.กาฬสินธุ์ เกษตรกรส่วนใหญ่เลี้ยงโคเนื้อเพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 88,771 ราย มีจำนวนโคเนื้อ 108,411 ตัว คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2,700 ล้านบาท ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวเข้ามาในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ จึงได้มีประกาศ เรื่อง กำหนดเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปี สกิน ในสัตว์ชนิดโค กระบือ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 โดยกำหนดให้ทุกพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เป็นเขตโรคระบาด ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ชนิดโค กระบือ หรือซากสัตว์ดังกล่าว เว้นแต้จะได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์โรคลัมปี สกิน ว่า ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ - 29 พฤษภาคม 2564 พบโค กระบือ ของเกษตรกรป่วยในพื้นที่ 18 อำเภอ เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 5,586 ราย โคกระบือป่วยสงสัยโรคลัมปีสกิน จำนวน 9,994 ตัว แบ่งเป็น โคเนื้อ 9,978 ตัว โคนม 6 ตัว กระบือ 10 ตัว ในส่วนของสหกรณ์การเกษตรยางลาด จำกัด อ.ยางตลาด มีสมาชิก 2,100 คน จำนวนโคที่เลี้ยง 6,837 ตัว โคป่วย 710 ตัว และสหกรณ์การเกษตรฆ้องชัย จำกัด อ.ฆ้องชัย มีสมาชิก 2,215 คน จำนวนโคที่เลี้ยง 2,020 ตัว โคป่วย 765 ตัว ทั้งนี้ ปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์ได้แจ้งให้ปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอเข้มงวดการเฝ้าระวังและมาตรการป้องกันและควบคุมโรคกรณีสงสัยโรคลัมปี สกิน ให้เจ้าหน้าลงพื้นที่ทำการรักษาและช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่อย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ รมช.เกษตรฯ ได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลือในด้านการสนับสนุนเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการควบคุมกำจัดแมลงดูดเลือด การใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นในพื้นที่เกิดโรค น้ำยาฆ่าเชื้อ และยารักษาโรคสัตว์ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้กระจายไปสู่พื้นที่ที่ยังไม่เกิดโรค
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งหาแนวทางให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และเชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ของโรคดังกล่าวได้ อีกทั้ง ในวันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นประธานในพิธีส่งมอบวัคซีนลอตแรก จำนวน 60,000 โด๊ส เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี สกิน พร้อมด้วยนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมทั้งปล่อยขบวนรถขนส่งวัคซีนลัมปี สกิน และทีมสัตวแพทย์ออกปฏิบัติงานฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไป
"กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับด่านกักสัตว์ตามแนวชายแดนทุกด่าน ให้เข้มงวดโดยเฉพาะการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ เพราะจะสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรในประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ยืนยันไม่ทอดทิ้งเกษตรกร โดยมอบหมายให้หน่วยงานเร่งลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย และให้ความช่วยเหลือ โดยกรมปศุสัตว์ ร่วมกับ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) มอบยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นพาหะของโรค ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มอบหมายให้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ กำจัดและป้องกันแมลงในพื้นที่ ทำความสะอาดคอกและอุปกรณ์ในการเลี้ยง ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่สามารถติดต่อสู่คนได้ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดทางผิวหนัง เมื่อโค กระบือ หายแล้ว สามารถรับประทานได้" รมช.มนัญญา กล่าว.