เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 นางนงนิตย์ เนียมศิริ ประธานแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดเลย พร้อมด้วยคณะกรรมการแม่บ้านมหาดไทย พัฒนาการจังหวัดเลย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ครัวเรือนต้นแบบ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ และภาคีเครือข่าย จำนวน 54 คน ร่วมกันดำเนินกิจกรรมผู้นำต้นแบบ ตัวอย่างที่เห็นจริง : "ปลูกผัก ปลูกรัก ฮักแพง แบ่งปันกันเลย ครั้งที่ 2" ร่วมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 90 วันปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ด้วยการลงมือปลูกผักสวนครัว ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างในการสร้างคลังอาหาร เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับข้าราชการ ประชาชนทั่วไป ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเลย
ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย เปิดเผยว่า จังหวัดเลย ดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 90 วันปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ได้มีการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหารสู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร มาเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างพลังความต่อเนื่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และลดรายจ่าย สร้างรายได้ ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพอย่างยั่งยืน ประกอบกับเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ จึงร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัว อาทิ ผักหวานป่า มะละกอ กระเพราแดง ผักกาด โหระพา เป็นต้น โดยกิจกรรมในวันนี้ ถือได้ว่าเป็นความร่วมมือที่สำคัญที่แสดงออกให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ต่อการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 90 วันปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตให้ประชาชนปฏิบัติตาม มีผักปลอดภัยไว้รับประทานและประกอบอาหาร ปลูกผักที่กิน กินผักที่ปลูก มีพืชผักปลอดภัย ประหยัดรายจ่ายในครัวเรือน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่จะเป็นตัวช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถอยู่รอด มีคลังอาหารในครัวเรือน ซึ่งเป็นรากฐานการสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว
การขับเคลื่อนครั้งนี้จึงมุ่งหวังให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริงในทุกชุมชน ทำให้พี่น้องประชาชนมีพืชผักปลอดภัยไว้กินเองและแบ่งปัน รวมถึงขยายผลต่อยอดสร้างรายได้ และสิ่งสำคัญคือ เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมการเกษตรกรรมที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ได้มีการรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัวทุกครัวเรือนในพื้นที่จังหวัดเลย เน้นการพึ่งตนเอง และความสามัคคีของคนในชุมชน เพื่อเป็นการต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานโครงการปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหารให้มีความยั่งยืนตลอดไป