'บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง' จับมือลาดกระบัง ศึกษาพัฒนางานโครงข่ายฟีดเดอร์รถไฟฟ้าสีแดง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 8, 2021 08:56 —ThaiPR.net

'บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง' จับมือลาดกระบัง   ศึกษาพัฒนางานโครงข่ายฟีดเดอร์รถไฟฟ้าสีแดง

'บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง' หรือ DMT เดินหน้าศึกษาขยายไลน์ธุรกิจใหม่ หลังเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งรอง (Feeder) เชื่อมโยงการเดินทางเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะ เล็งเสนอรูปแบบพัฒนาฟีดเดอร์รถไฟฟ้าสายสีแดงด้วยระบบ Smart Feeder หากภาครัฐเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในปลายปีนี้

นายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ DMT เปิดเผยว่า จากนโยบายดำเนินธุรกิจที่มุ่งนำความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และร่วมพัฒนาเครือข่ายด้านคมนาคมของประเทศให้มีความเข้มแข็งด้วย Technology ที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาโครงการ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาและพัฒนาโครงการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งรอง (Feeder) เชื่อมโยงเครือข่ายการเดินทางระหว่างชุมชนสู่ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า สนามบิน เป็นต้น โดยใช้ระบบ Smart Feeder เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในเดินทาง

ทั้งนี้ DMT ให้ความสนใจเข้าร่วมพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งรอง (Feeder) โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง หลังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) มีนโยบายให้เอกชนเข้าร่วมพัฒนาโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทาง เพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเริ่มจากการศึกษาพัฒนาระบบฟีดเดอร์โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนเดินทางเข้าสู่สถานีต่าง ๆ

"เราสนใจศึกษาพัฒนาโครงการระบบขนส่งรอง (Feeder) ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยเราจะนำประสบการณ์การดำเนินงานด้านการบริหารโครงสร้างพื้นฐานเข้ามาร่วมกับพันธมิตร เพื่อพัฒนาโครงการให้ประชาชนที่ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ รวมถึงประชาชนโดยรอบให้สามารถเข้ามาใช้บริการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยใช้ระบบ Smart Feeder ที่บริษัทฯ ศึกษา เช่น ระบบรถโดยสารขนาดตั้งแต่ EV Mini Bus, EV Full Size Bus, และ Tram Bus ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน (Electric Vehicle : EV) ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีระบบ Smart Card, QR Code, และ EMV (Europay, Mastercard, and Visa) เพื่อรองรับ Cashless Society ในการชำระค่าโดยสาร มีระบบสนับสนุนการสื่อสาร WiFi ระบบดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนด้วยกล้อง CCTV ในรถโดยสาร มี Mobile Application เพื่อให้ประชาชนสามารถคาดการณ์การเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพและจัดทำป้ายรถโดยสาร Smart Bus Stop และศึกษาการนำพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์มาเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ป้ายรถโดยสาร เป็นต้น รวมเรียกโครงการทั้งหมดนี้ว่า Smart Feeder เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในเดินทาง โดยการศึกษาพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งรอง (Feeder) สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงจะเป็นโครงการเริ่มต้นเพื่อนำร่องไปสู่การพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้กับองค์กรในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่ภาครัฐอยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในอนาคตอันใกล้" นายธานินทร์ กล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการฯ ในนาม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. กล่าวว่า การพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งรอง (Feeder) เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางแบบไร้รอยต่อ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้ง่ายและสะดวกสบายยิ่งขึ้น เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนตัดสินใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางมาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งผลการศึกษาขั้นต้นของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) กำหนดพื้นที่นำร่องในการพัฒนาโครงข่ายการเดินทางเชื่อมโยงรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการลงทุนและร่วมประกอบการ โดย สจล. ร่วมกับ DMT ได้ตกลงทำความร่วมมือ ในการศึกษาพัฒนาโครงข่าย Feeder ในพื้นที่นำร่องดังกล่าว เนื่องจากเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่เกิดจากการศึกษาร่วมกัน เช่น การบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดบนท้องถนน การลดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะหลัก และการเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง รวมทั้งการเพิ่มโอกาสในการลงทุนประกอบการ เป็นต้น เพื่อเป้าหมายของการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ