Decentralized Finance (DeFi) และการกำกับดูแล

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 8, 2021 10:00 —ThaiPR.net

Decentralized Finance (DeFi) และการกำกับดูแล

ด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมีการนำระบบบล็อกเชน (blockchain) มาใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์และให้บริการทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ หนึ่งในนั้นที่กำลังเป็นนิยมคือ Decentralized Finance หรือ "DeFi" หลายคนอาจเคยได้ยินหรือเคยเข้าไปทำธุรกรรมกับโครงการ DeFi กันบ้าง แม้ DeFi จะเป็นเรื่องใหม่แต่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีโครงการ DeFi เกิดขึ้นมากมาย ทั้งโครงการที่ได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และบางโครงการก็มีผู้ที่ถูกหลอกลวงและเกิดความเสียหาย ดังนั้น ประชาชนและผู้สนใจจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนเข้าทำธุรกรรม มาดูกันว่า DeFi คืออะไร มีการกำกับดูแลอย่างไรตามกฎหมายไทย รวมทั้งข้อพิจารณาก่อนทำธุรกรรม DeFi สำหรับผู้ประกอบธุรกิจและผู้ซื้อขาย

DeFi คืออะไร

DeFi เป็นบริการทางการเงินแบบกระจายศูนย์บนระบบบล็อกเชน ไม่พึ่งพาตัวกลาง โดยใช้กลไกควบคุมการดำเนินการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดผ่านสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ดังนั้น จุดสำคัญของโครงการ DeFi จึงอยู่ที่ความน่าเชื่อถือ การทำงานอย่างถูกต้อง และความปลอดภัยของเทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากบริการทางการเงินรูปแบบดั้งเดิมที่ความสำคัญจะอยู่ที่การปฏิบัติงานของผู้ให้บริการอย่างสถาบันการเงิน

ปัจจุบันโครงการ DeFi ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ มีกิจกรรมที่ครอบคลุมการให้บริการทางการเงิน
ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การให้ยืมและยืมสินทรัพย์ดิจิทัล (lending & borrowing) ซึ่งผู้ทำธุรกรรมสามารถฝากสินทรัพย์ดิจิทัล โดยได้รับผลตอบแทนและส่วนแบ่งจากการให้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลและค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในระบบ การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (decentralized exchange)

ซึ่งเป็นการให้บริการแบบกระจายศูนย์ ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า โดยผู้ทำธุรกรรมจะทำการเชื่อมต่อกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) ของตนกับเว็บไซต์ผู้ให้บริการเมื่อต้องการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การบริหารจัดการสินทรัพย์ (asset management) โดยให้บริการผ่านแพล็ตฟอร์มแบบกระจายศูนย์

นอกจากนี้ ยังมีการออกโทเคนดิจิทัล เช่น Liquidity Provider (LP) token, governance token หรือ token ต่าง ๆ ให้แก่ผู้ที่ทำธุรกรรมในโครงการ DeFi ตลอดจนการทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ให้รางวัล ชิงโชคและหลายโครงการยังมีการต่อยอดกิจกรรมเพื่อเพิ่มปริมาณการทำธุรกรรมและส่งเสริมให้มีการใช้งาน token ของโครงการมากขึ้นเรื่อย ๆ

DeFi และการกำกับดูแล

พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) เป็นกฎหมายที่กำกับดูแลการเสนอขายและการให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ประกอบด้วย คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล โดยกำหนดให้ การออกโทเคนดิจิทัลต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ต้องเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนดและเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. รวมทั้ง ยังกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset exchange) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset broker) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset dealer) ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset fund manager) และที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (investment advisor) ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจตามประเภทที่ได้รับอนุญาต

หากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโครงการ DeFi ในประเทศมีการออกโทเคนดิจิทัลให้แก่ผู้ใช้บริการ อาจเข้าข่ายการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ต้องได้รับอนุญาต และหากลักษณะหรือรูปแบบการให้บริการเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่ง ก็จะต้องได้รับใบอนุญาตและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดตามที่กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปจดทะเบียนซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกและจดทะเบียน (Listing rules) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. นอกจากนี้ กิจกรรมอื่น ๆ เช่น การให้ยืมการให้รางวัล หรือชิงโชคต่าง ๆ อาจต้องปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย

ข้อควรรู้ก่อนทำธุรกรรม DeFi

เนื่องจากปัจจุบัน DeFi ยังเป็นเรื่องใหม่และยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ที่จะดำเนินการเกี่ยวกับ DeFi ในประเทศ ควรพิจารณาก่อนดำเนินการว่าธุรกรรมดังกล่าวนั้นเข้าข่ายการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะต้องได้รับอนุญาตหรือไม่ หากฝ่าฝืนจะเป็นการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ รวมทั้งศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

ผู้ทำธุรกรรมฝากสินทรัพย์ดิจิทัลอาจประสบผลขาดทุนจากราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไปฝากเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับราคาขณะที่ได้ทำการฝาก (impermanent loss) นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีบางโครงการ DeFi ถูกแฮ็ก smart contract เกิดปัญหา มีช่องโหว่ หรือทำงานผิดพลาด ทำให้ผู้ซื้อขายเกิดความเสียหายและสูญเสียทรัพย์สิน และมีบางโครงการ DeFi ที่ปิดตัวและหลอกลวงทรัพย์สินของผู้ซื้อขายไป ซึ่งหากเป็นโครงการ DeFi ในต่างประเทศก็อาจไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายของไทย

ดังนั้น ผู้ซื้อขายควรศึกษาโครงการ DeFi ก่อนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งในทางเทคนิคด้านความปลอดภัยรวมถึงข้อกำหนด เงื่อนไข และฟังก์ชันการทำงานต่าง ๆ ที่เขียนขึ้นบนระบบ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และควรตรวจสอบว่าโครงการนั้น ได้ผ่านการตรวจสอบ (audit) จากบริษัทตรวจสอบที่เชื่อถือได้ และผู้ให้บริการเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. หรือหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมายอื่นหรือไม่

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้จากแอปพลิเคชัน
SEC Check First หรือเว็บไซต์ www.sec.or.th หัวข้อ สินทรัพย์ดิจิทัล และสอบถามข้อมูลหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร 1207


แท็ก บล็อกเชน   central  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ