เชฟรอนมอบคอมพิวเตอร์ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หนุนภารกิจสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19

ข่าวทั่วไป Thursday June 10, 2021 16:07 —ThaiPR.net

เชฟรอนมอบคอมพิวเตอร์ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หนุนภารกิจสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19

การจัดหาวัคซีนและการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรให้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุด เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ นับเป็นกลยุทธ์สำคัญในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การฟื้นตัวของประเทศจากวิกฤตในครั้งนี้ได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแรงร่วมใจทำงานอย่างเต็มที่เพื่อกระจายวัคซีนสู่คนไทย โดยล่าสุดภารกิจปูพรมฉีดวัคซีนพร้อมกันทั่วประเทศ ได้เริ่มขึ้นแล้วในหลายจังหวัด เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพื่อบรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างน้อย 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้

เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนภารกิจนี้ให้ลุล่วง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้บริจาคคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ มูลค่า 2,306,096 บาท แก่ศูนย์วัคซีน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สำหรับใช้ในการดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนภายในศูนย์ดังกล่าวตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็ว ตลอดจนถึงได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างทั่วถึง

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า "เชฟรอนตระหนักดีว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประเทศตามแนวนโยบายของรัฐบาล คือวิธีการยับยั้งและสกัดกั้นการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เชฟรอนจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนภารกิจครั้งสำคัญนี้ โดยมอบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศแก่ศูนย์วัคซีน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อให้การฉีควัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ นำไปสู่การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยให้ฟื้นตัวจากวิกฤตในครั้งนี้ได้อย่างแข็งแกร่ง"

นพ.ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านเทคโลโนยีสารสนเทศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า "ความก้าวหน้าทางการแพทย์คือสิ่งที่จะช่วยให้มวลมนุษยชาติและประชาชนคนไทยสามารถฟันผ่าวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกลับสู่สภาวะปกติได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์ก็จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศในการให้บริการการฉีดวัคซีน ทั้งในด้านการสื่อสารกับคนไข้โควิด-19 และผู้ป่วยด้วยโรคอื่นๆ ด้านการลงทะเบียนและบันทึกข้อมูลของคนไข้ในระบบเพื่อติดตามอาการในภายหลัง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องมีการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการรักษาระยะห่าง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงด้านการเผยแพร่ความรู้และประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของตนเองให้ปลอดภัยจากวิกฤตในครั้งนี้ และเมื่อบุคลากรทางการแพทย์มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยจากการสนับสนุนของทางเชฟรอน เหล่าบุคลากรทางการแพทย์จะสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้การกระจายวัคซีนรวมถึงข้อมูลต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศได้อย่างครอบคลุม"

ทั้งนี้ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา เชฟรอนไม่เพียงมอบอุปกรณ์การแพทย์และสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยงานด้านสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังให้การสนับสนุนการสร้างสร้างศักยภาพในระยะยาวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤตโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ การสนับสนุนโครงการวิจัย "การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ" ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ให้กับกรมควบคุมโรคในการพัฒนาและยกระดับการจัดการระบบข้อมูล ผ่านกระบวนการ "Design Thinking" หรือ "การคิดเชิงออกแบบ" และการมอบคอมพิวเตอร์แบบพกพา 20 เครื่อง แก่สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินภารกิจฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นต้น ซึ่งทางเชฟรอนจะยังคงเดินหน้าสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับมือกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมเป็นพลังสนับสนุนให้ประเทศไทยและคนไทยก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ