โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งที่พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลฯ รวมถึงประชาชนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ที่ได้ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมเรียบร้อยแล้ว
จากข้อมูลปัจจุบันของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้ารับฉีดวัคซีนโควิด-19 เต็มจำนวนตามที่ได้รับการจัดสรรจากภาครัฐแล้วโดยเริ่มฉีดในวันที่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 พร้อมกันกับโรงพยาบาลและจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ เป็นเวลา 54 วันต่อเนื่องโดยไม่มีวันหยุด ซึ่งเป็นไปตามระยะเวลาที่รัฐกำหนดให้ประชาชนกลุ่มแรกเข้ารับบริการ รวมจำนวนกว่า 15,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 100 ปี จำนวน 3 ราย ได้ลงทะเบียนขอเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถือเป็นแบบอย่างที่ดีและยังช่วยกระตุ้นให้กลุ่มผู้สูงอายุกล้าที่จะตัดสินใจเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและลดการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงหากป่วยเป็นโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีน ความมั่นใจในศักยภาพของทีมแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และคุณภาพมาตรฐานของโรงพยาบาลฯ โดยผู้สูงอายุกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้เตรียมความพร้อมในทุก ๆ มิติ อาทิ ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ การให้บริบาลทางการแพทย์ขั้นสูง คุณภาพมาตรการการดูแลผู้สูงวัยและผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับวัคซีนเป็นสำคัญ
เภสัชกรหญิงอาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า นับตั้งแต่บำรุงราษฎร์ทราบถึงแนวทางการกระจายฉีดวัคซีนตามที่ภาครัฐจัดสรรให้แก่ประชาชนผ่านจุดฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลต่างๆ นั้น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์พร้อมที่จะสนับสนุนเพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง จึงได้วางแผนถึงกระบวนการในการฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบเพื่อความพร้อมในการเปิดให้บริการแก่ประชาชนในระยะแรก สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป โดยบำรุงราษฎร์ได้คำนึงถึงคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล พร้อมจัดทีมแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และสหสาขาวิชาชีพเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำและดูแลผู้มาใช้บริการอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน ทั้งก่อนการฉีด ระหว่างการฉีด โดยเฉพาะหลังการฉีด 30 นาที จำเป็นต้องมีการสังเกตอาการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และในกรณีที่ผู้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนมีเหตุจำเป็นที่ต้องออกนอกบริเวณ ควรต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบ และหลังจากครบ 30 นาทีก่อนกลับบ้านจะมีการวัดสัญญาณชีพเพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับการฉีดมีภาวะปกติ ในกรณีหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ จะมีแพทย์และทีมฉุกเฉินประจำจุดฉีดวัคซีน ห้องปฐมพยาบาล พร้อมด้วยรถเข็นฉุกเฉิน (emergency cart) ที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนยาและเวชภัณฑ์ตามมาตรฐานสากลที่สามารถให้การดูแลช่วยเหลือได้ทันท่วงที นอกจากนี้ โรงพยาบาลฯ ยังอำนวยความสะดวก โดยจัดลำดับการรับบริการ แบบทางเดียว ให้ผู้มารับวัคซีนอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างและลดการสัมผัสที่ไม่จำเป็น รวมถึงห้องฉีดวัคซีนที่ให้บริการครั้งละหนึ่งคนไม่ปะปนกับใคร มีฉากกั้นเพื่อความเป็นส่วนตัวอีกด้วย
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้จัดจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ชั้น 10 อาคาร A (อาคารคลินิก) ตั้งแต่เวลา 8.00 - 16.00 น. โดยมีการกำหนดขั้นตอนการรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ดังนี้
นพ. อชิรวินทร์ จิรกมลชัยสิริ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลวัคซีนโควิด-19, หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม, แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้คำแนะนำแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง ว่าควรได้รับการฉีดวัคซีน หากไม่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีน เนื่องจากผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงถึงชีวิตหากติดเชื้อโควิด- 19 ได้ สำหรับอาการแพ้วัคซีนนั้นแยกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ 1. การแพ้วัคซีนรุนแรง (anaphylaxis) 2. ผลข้างเคียงของวัคซีน (side effects) หรือ 3. อาการเป็นลม (vasovagal syncope) ที่อาจเกิดจากความเครียด เจ็บปวด ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติหยุดทำงานชั่วคราว จนเกิดอาการหน้ามืด ใจสั่น เป็นลม หมดสติได้ โดยมีวิธีสังเกตอาการ และวิธีปฏิบัติตัว ดังนี้
ในกรณีที่ผู้มาฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีผลข้างเคียงหรือแพ้เล็กน้อยแบบไม่รุนแรง สามารถรับวัคซีนเข็มที่สองได้ตามกำหนด ไม่มีข้อห้ามในการรับฉีดวัคซีนเข็มต่อไป แต่สำหรับกรณีที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis) แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีนเข็มที่สอง เพื่อหาสาเหตุว่าอาการแพ้ชนิดรุนแรงเกิดจากอะไร และปรับการฉีดวัคซีนเข็มที่สองเป็นอีกยี่ห้อที่มีส่วนผสมที่ต่างจากวัคซีนเข็มแรก ซึ่งสาเหตุที่แพ้วัคซีนชนิดรุนแรงมักเกิดจากส่วนประกอบที่มีอยู่ในวัคซีน ที่พบบ่อยคือ Polyehtylene glycon (PEG) ซึ่งวัคซีน/ยาที่มีส่วนประกอบของ PEG ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA vaccine (Pfizer หรือ Moderna) ยาฉีด methylprednisolone ยาคุมชนิดฉีด (Depo-Provera) ยาระบาย miralax หากมีประวัติแพ้รุนแรงต่อกลุ่มนี้ อาจให้วัคซีนกลุ่มอื่น เช่น Sinovac vaccine เพราะไม่มีส่วนผสมเหล่านี้อยู่ อีกส่วนประกอบอื่นในวัคซีนที่อาจแพ้ คือ polysorbate ซึ่งมีรูปร่างคล้าย PEG ทำให้อาจพบการแพ้ร่วมกันได้ (cross-reactivity) ซึ่งวัคซีนที่มีส่วนประกอบของ polysorbate ได้แก่ ตับอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดบวม วัคซีนโควิด -19 ของ AstraZeneca, Sputnik-V, Johnson & Johnson
หากพบว่ามีอาการรุนแรงหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือรับคำปรึกษาได้ที่ศูนย์ข้อมูลวัคซีนโควิด-19 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โทร. 1378 และสามารถติดตามบทความสุขภาพของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ที่ https://www.bumrungrad.com/th/centers/covid19-vaccine-Information