DITP ชูศักยภาพผู้ส่งออกสินค้าอาหารไทยผ่านการรับรองจาก 4 หน่วยงานรัฐ คุมเข้มการผลิตทุกขั้นตอนตามมาตรฐานสากล มั่นใจปลอดเชื้อโควิด-19

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 11, 2021 11:36 —ThaiPR.net

DITP ชูศักยภาพผู้ส่งออกสินค้าอาหารไทยผ่านการรับรองจาก 4 หน่วยงานรัฐ คุมเข้มการผลิตทุกขั้นตอนตามมาตรฐานสากล มั่นใจปลอดเชื้อโควิด-19

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยศักยภาพผู้ส่งออกสินค้าอาหารไทยผ่านการรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก จาก 4 หน่วยงานรัฐ คาดในปี 2564 นี้มีผู้ประกอบการขอใบรับรองเพิ่มมากขึ้น พร้อมเดินหน้าโครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ "สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" (Thailand Delivers with Safety) มุ่งสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตสินค้าอาหารไทย เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้นำเข้าในต่างประเทศ

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประเทศคู่ค้า เกิดความไม่มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยของอาหารที่นำเข้ามา เพื่อการบริโภค ภาครัฐจึงได้ให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้าอาหารในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาได้มีการลงนามความตกลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่อง "การรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID-19 Prevention Best Practice)" ของ 4 หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมมือกันรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก ซึ่งกรมประมงได้ออกใบรับรอง COVID - 19 Prevention Best Practice ให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มโรงงานอาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และโรงงานผลิตอาหารทะเลกระป๋องแล้ว จำนวน 72 โรงงาน

"ในปี 2564 นี้คาดว่าจะมีผู้ประกอบการขอใบรับรองเพิ่มมากขึ้น โดยใบรับรองดังกล่าวเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้นำเข้าในต่างประเทศ ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังคงเดินหน้าสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอาหารไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คู่ค้า ผ่านมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อการส่งออกอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ปฏิบัติในแนวทางเดียวกันในการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารจากประเทศไทย ซึ่งภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ส่งออกอาหารไทย พร้อมให้ความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด" นายสมเด็จกล่าว

พร้อมกันนี้ ยังได้เดินหน้าโครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ "สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" (Thailand Delivers with Safety) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตสินค้าอาหารไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีระบบการควบคุมป้องกันที่ได้มาตรฐานเพื่อให้ปลอดการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส เป็นการตอกย้ำว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตอาหาร และมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การเก็บเกี่ยว การขนส่ง มีระบบป้องกันตนเองของพนักงานในโรงงาน การบรรจุ และการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค

"โครงการ ฯ ดังกล่าว นับว่ามีความสอดคล้องและมีเป้าหมายเดียวกันกับงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-ANUGA ASIA 2020 ที่ผ่านมา นั่นคือการแสดงศักยภาพของอาหารไทย ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยและสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้าทั่วโลกได้มั่นใจว่าอาหารไทยปลอดภัยจากการปนเปื้อนโควิด-19 โดยในปีนี้

งาน THAIFEX - ANUGA ASIA 2021 ยังคงจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และมีการปรับรูปแบบของการจัดงานตามสถานการณ์ในรูปแบบ Hybrid+ เป็นการผสมผสานการจัดงานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ตอบสนองภาคอุตสาหกรรมอาหารในการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจในยุค New Normal โดยแพลตฟอร์มออนไลน์ได้เปิดให้บริการไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และจากนั้นจะมีการจัดงานแสดงสินค้าแบบออฟไลน์ระหว่างวันที่ 29 ก.ย. - 3 ต.ค. 2564" นายสมเด็จ กล่าว

อย่างไรก็ดี จากที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการให้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 แก่ประชาชน ส่งผลต่อ ความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา นอกจากนี้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นและการกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าที่นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้คาดว่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2564 จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 7.1 หรือคิดเป็น มูลค่า 1,050,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ